จากกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อนุมัติให้สอบสวนกรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคล หรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากนั้นมีการลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน ขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน
ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันด์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา และนายเอกรินทร์ ดอนดง ผอ.ส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษของคดีเทคโนโลยี และศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ให้มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนและไต่สวนเรื่องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในทุกพื้นที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
จนเมื่อวันที่ 25 เม.ย.68 ดีเอสไอ ร่วมกับ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้นำกลุ่ม สว.สำรอง เข้าสังเกตการณ์ ตรวจสถานที่คัดเลือก สว.ระดับประเทศ และจำลองเหตุการณ์ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรัม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อประกอบการสอบสวนคดีพิเศษในคดีฟอกเงิน สว. (คดีพิเศษที่ 24/2568) และใช้ประกอบการไต่สวนของ กกต.
โดย ดีเอสไอได้เริ่มดำเนินการสอบสวนรวมเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนภายหลังรับเป็นคดีพิเศษ มีการสอบปากคำพยานทั่วประเทศ สอบปากคำพยานกลุ่ม สว.สำรอง ตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมธนาคารของบุคคลในขบวนการ ข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์ รวมทั้งรับโอนสำนวนการสอบสวนจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.โกสุมพิสัย ที่มีผู้กล่าวหาในความผิดฐานอั้งยี่ มาสอบสวนรวมสำนวนในคดีพิเศษดังกล่าว ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าวันที่ 7 พ.ค. 68 รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ซึ่งมี ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน และมีกรรมการสืบสวนและไต่สวนที่มาจาก กกต. และดีเอสไอ รวม 7 ราย ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 67 กระทั่งวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน การสอบสวนปากคำพยาน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวของกลุ่มคณะบุคคล , การตรวจสอบเส้นทางการเงินที่สะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่การเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ , การกาคะแนน การนับผลคะแนนที่มีการเลือกหมายเลขเดียวกัน ซ้ำๆ กันหลายชุด เป็นต้น
เมื่อได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์แล้วพบการกระทำที่เข้าข่ายมีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยสุจริตหรือเที่ยงธรรม พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 จึงส่งหลักฐานและข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบการพิจารณาตามกฏหมายเลือกตั้ง อาทิ การพิจารณาเพิกถอนสิทธิ สว. นั้น
ล่าสุดมีเสียงลือสะพัดว่า บรรดา 138 สว. พูดกันว่ามีการเคลียร์กันแล้ว ข้างบนเคลียร์กันแล้ว หลังรู้ตัวว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะถูกเจ้าหน้าที่ กกต. เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายเลือกตั้ง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และดีเอสไอ รวม 7 ราย ได้ดำเนินการเก็บพยานหลักฐานสำคัญเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการตรวจสอบเชิงลึกอย่างละเอียดรอบคอบ ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏจากคำให้การของพยานและหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.68) กกต.จะมีการทยอยเรียกแจ้งข้อกล่าวหาบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ล็อตแรกจำนวน 60 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็น สว.คนดัง ตามความผิดกฎหมายเลือกตั้ง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย
มาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 62 มาตรา 70 และมาตรา 77
รายงานข่าว ระบุว่า ซึ่งบุคคลที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ล้วนมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิด ไม่ได้ถูกเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยสุจริตเที่ยงธรรม หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือมาโดยการฮั้ว ซึ่งกระบวนการหลังจากนั้น วุฒิสภาที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ กกต. เพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจาก กกต. เป็นระบบไต่สวน ฉะนั้น หากเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วไม่มาพบเจ้าหน้าที่ ก็ถือว่าประสงค์ไม่ให้การชี้แจง แต่จะไม่ถึงขั้นขอศาลออกหมายจับ แต่ กกต. จะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาเรื่องการทุจริตเพื่อออกใบแดง และส่งเรื่องเพิกถอนสิทธิ สว. ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อไป
ส่วนกรณีที่ดีเอสไอดำเนินการเรื่องความผิดคดีอาญาอื่น คือฐานฟอกเงินและอั้งยี่นั้น สำนวนนี้ดีเอสไอคือหัวเรือหลักสอบสวนบุคคลที่ร่วมกระทำทุจริต รับเงิน เป็นกลุ่มโหวตเตอร์ พลีชีพ จัดฮั้ว เบื้องต้นมีจำนวนหลายร้อยคน ดังนั้นเมื่อสอบสวนเสร็จสิ้น ดีเอสไอต้องสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่ออัยการส่งศาลอาญารัชดาภิเษก ซึ่งฐานความผิดอาญานี้ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้ได้ถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และศาลฎีกา
Advertisement