การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบฐานขั้นต่ำในอัตราร้อยละ 10 จากทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ได้สร้างความตึงเครียดทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง
โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 36 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ ทั้งนี้ทางสหรัฐฯ ได้ให้เหตุผลว่าไทยเก็บภาษีจากสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง 72% และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568 ขณะที่ในเวลาต่อมาทางสหรัฐฯ ได้ปรับแก้ตัวเลขเป็น 37%
ทางรัฐบาลไทย โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 โดยระบุว่า ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
และได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิดรอบด้าน เพื่อเตรียมข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย
จากนั้นวันที่ 6 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ถึงท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า ในสัปดาห์หน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ที่มีส่วนได้เสียจากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้
โดยในวันที่ 8 เมษายน 2568 หลังประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง จะสรุปแนวทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า “ไทยได้รับการตอบรับจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR เพื่อเจรจาแล้ว เหลือแค่กำหนดวันที่เข้าพูดคุยเท่านั้น ซึ่งไทยอาจเป็นชาติแรกที่ได้รับจดหมายตอบรับว่าสามารถเข้าไปเจรจากับสหรัฐได้”
ซึ่งแนวทางการเจรจาตอนนี้ทางรัฐบาลจะให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเจรจาในรอบแรก ส่วนการติดตามรายละเอียดย่อยทางกระทรวงพาณิชย์จะรับช่วงต่อว่าจะพูดคุยอย่างไรต่อไป
ในวันเดียวกันนั้นนายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียว่า การวางยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day ต้อง ‘รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ และมีการเตรียมข้อมูลที่ครบและรอบด้าน มีการติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการเจรจาที่จะมีต่อไปจากนี้
อย่างไรก็ตามการเจรจาไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ แต่การเจรจาจะต้องใช้เวลา และมีการเจรจาในหลายระดับที่แตกต่างกัน นายกรัฐมนตรียืนยันว่า “รัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง เราจะดำเนินการทุกอย่างโดยรอบคอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ และไม่ให้เสียเปรียบมากที่สุด”
Advertisement