ประเพณีขลิบอวัยวะเพศ เรื่องราวที่แสนเจ็บปวดผ่านเสียงของ ไซนับ จามา มิสเวิลด์โซมาเลีย พิธีกรรมเก่าที่สร้างบาดแผลในใจให้เด็กสาวในประเทศของเธอ
“ฉันจำได้ว่าฉันกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดตลอดกระบวนการผ่าตัด ไม่มีแม้แต่การฉีดยาชา ไม่มีคำปลอบโยน มีแค่เลือดและความเงียบที่ดังที่สุด ฉันร้องขอทั้งน้ำตาแต่พวกเขาบอกให้ฉันเงียบ และกล่าวว่านี่คือความเข้มแข็ง ภาคภูมิใจ เพราะนี่คือวัฒนธรรมของพวกเรา”
เรื่องราวความเจ็บปวดที่ถูกเล่าผ่านประสบการณ์ตรงของ ไซนับ จามา (Zanaib Jama) มิสเวิลด์โซมาเลีย วัย 23 ปี ในการประกวดรอบ Head-to-Head Challenge เวทีมิสเวิลด์ 2025 ซึ่งให้สาวงามแต่ละประเทศออกมาพูดถึงโครงการเพื่อสังคมของตัวเอง ซึ่งโครงการของเธอคือ Female Initiative Foundation ต่อต้านการขลิบอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ซึ่งเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ในประเทศโซมาเลีย และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา และเธอเองก็เคยผ่านประสบการณ์อันโหดร้ายนั้นมา ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะเป็นประบอกเสียงให้กับเด็กผู้หญิงที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อจากเรื่องนี้
ไซนับ จามา เล่าว่าประสบการณ์อันโหดร้ายของเธอเกิดขึ้นในวัย 7 ขวบ เธอถูกผู้ใหญ่พาไปในห้องๆ หนึ่ง และลงมือขลิบตัดอวัยวะเพศของเธอ นั่นก็คือคริสตอริส แคมเล็กและแคมใหญ่ โดยไม่ได้ฟังเสียงร้องขอของเธอที่อ้อนวอนให้หยุดทำ ยิ่งไปกว่านั้นผู้กระทำไม่ใช่แพทย์แต่เป็นการทำตามความเชื่อที่สั่งสมกันมา
หลังการกระทำที่แสนโหดร้ายเสร็จสิ้นลง เธอยังถูกขังให้อยู่ในห้องมืดเป็นเวลาหลายวัน เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ความเจ็บปวดที่ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือหรือปลอบใจ เธอเล่าต่อว่าเธอผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายนั้นมาได้เพราะชอล์กที่มีอยู่ในห้องที่เธอใช้เขียนและวาดความฝันของเธอเพื่อระบายความเจ็บปวด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของไซนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เธอตั้งมั่นที่จะเป็นประบอกเสียงเพื่อเด็กผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปีในประเทศโซมาเลีย ซึ่งมีถึงร้อยละ 98% ต้องผ่านการถูกขลิบอวัยวะเพศหญิง ส่วนอีก 2% คือเด็กทารกที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะถูกกระทำ
ไซนับเล่าทั้งน้ำตาถึงการก่อตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงช่วยปกป้องเด็กหญิงโซมาเลียรุ่นต่อๆ ไป และหวังให้คนในสังคมอย่าเห็นประเพณีสำคัญกว่าชีวิตของคน โดยยืนยันจะรณรงค์ต่อไปจนกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยมี จูเลีย มอร์ลีย์ เจ้าของเวที Miss World ขึ้นมากอดและให้กำลังใจกับเธอ
สำหรับ การขลิบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) ถือเป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาและยังคงปฏิบัติอยู่ในประเทศโซมาเลีย และหลายประเทศในทวีปแอฟริกา
เด็กหญิงกว่า 97% ในโซมาเลีย จะต้องผ่านการขลิบอวัยวะเพศ ผ่านความเชื่อที่ยกขึ้นมาเป็นเหตุผลของการกระทำดังกล่าวว่า เป็นการระงับความต้องการทางเพศของเด็กผู้หญิง หรือเพื่อรับรองความบริสุทธิ์ของพวกเธอเหล่านั้น โดยเหลือช่องเล็กๆ ไว้ สำหรับให้เลือดประจำเดือนและปัสสาวะไหลออกมาได้เท่านั้น
รวมถึงบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ถือว่าการขลิบอวัยวะเพศหญิงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการแต่งงานหรือการสืบทอดมรดก ครอบครัวที่ไม่เข้าร่วมอาจถูกขับออกจากสังคมและลูกสาวอาจเสี่ยงต่อการไม่มีสิทธิ์แต่งงาน ตลอดจนปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้เด็กผู้หญิง สตรี และชุมชนเลิกปฏิบัตินี้ได้ยาก
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าพิธีกรรมดังกล่าวคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเด็กสาวและสตรี รวมถึงสิทธิในสุขภาพ ความปลอดภัย ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กผู้หญิงทุกคนที่ต้องถูกกระทำ เป็นความเชื่อที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในระยะยาว ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงสร้างบาดแผลทางจิตใจในระยะยาวให้กับเด็กคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ได้มีหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้ อาทิ ยูนิเซฟ (UNICEF) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ที่ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการเพื่อยุติการขลิบอวัยวะเพศหญิง มาตั้งแต่ปี 2551 โดยร่วมมือกับชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงอันตรายที่เกิดจากการตัดอวัยวะเพศหญิง แก้ไขปัญหาการทำลายอวัยวะเพศหญิงโดยผ่านการแทรกแซงใน 18 ประเทศ ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ จิบูตี อียิปต์ เอริเทรีย เอธิโอเปีย แกมเบีย กินี กินี-บิสเซา อินโดนีเซีย เคนยา มาลี มอริเตเนีย ไนจีเรีย เซเนกัล ซูดาน โซมาเลีย ยูกันดา และเยเมน มี 13 ประเทศที่ได้ผ่านกฎหมายระดับชาติเพื่อห้ามการตัดอวัยวะเพศหญิง
และปัจจุบันมีผู้คนประมาณ 48 ล้านคนในชุมชนต่างๆ ทั่ว 15 ประเทศได้ประกาศต่อสาธารณะเพื่อเลิกปฏิบัติดังกล่าว
ที่มา : Miss World , What is female genital mutilation?
Advertisement