ตรวจโควิดเชิงรุก ATK กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 7 วัน 145,566 คน พบผลเป็นบวก 11%

12 ส.ค. 64

ผลตรวจโควิดเชิงรุก ด้วยชุดตรวจ ATK ในพื้นที่ชุมชนแออัด กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 7 วัน ทั้งหมด 145,566 คน พบผลเป็นบวก 16,186 ราย หรือคิดเป็น 11.1%

วันที่ 11 ส.ค.64 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลปฏิบัติการ CCR Team ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายภาคประชาสังคม และ กทม. จัดหน่วยปฏิบัติการเชิงรุกในชุมชน (CCR Team) ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม และสหวิชาชีพกว่า 400 คน 41 ทีม ดำเนินการเชิงรุกในชุมชนแออัดพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ใน 4 ภารกิจหลัก คือ

1.การตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทราบผลเร็วไม่เกิน 30 นาที

2.เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมบ้านหรือร่วมชุมชนมาตรวจเพิ่มเติม

3.รักษาพยาบาล โดยผู้มีผล ATK เป็นบวก แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการทุกรายและรักษา จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาฟ้าทะลายโจรตามเกณฑ์ ลงทะเบียนเข้าสู่การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ของ สปสช. และตรวจ RT-PCR ทุกรายที่มีผล ATK เป็นบวก เพื่อเข้าสู่ระบบรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) และหรือโรงพยาบาล ให้คำแนะนำการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ

4.หากผล ATK เป็นลบ จะฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งให้วัคซีนถึงบ้านสำหรับกลุ่มเปราะบาง ติดบ้าน ติดเตียง

313895

นายแพทย์ยงยศ กล่าวอีกว่า หน่วย CCR Team ลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุกแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564 ตรวจ ATK พบผลบวก 9% ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กรกฎาคม 2564 ตรวจ ATK พบผลบวก 16.1% และล่าสุดครั้งที่ 3 วันที่ 4-10 สิงหาคม 2564 ออกปฏิบัติการ 41 ทีม รวมผู้ปฏิบัติงานจากทั่วประเทศ 400 คน ลงพื้นที่ 369 ชุมชน มีประชาชนได้รับการตรวจ ATK รวม 145,566 คน พบผลบวก 16,186 ราย คิดเป็น 11.1%

จากการประเมินอาการพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีเขียว 11,216 คน คิดเป็น 69.3% ระดับสีเหลือง 4,639 คน คิดเป็น 28.7% และอาการรุนแรงระดับสีแดง 331 คน คิดเป็น 2% มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์รวม 467,150 เม็ด ยาฟ้าทะลายโจร 3,614 คน คิดเป็น 22.3% ของผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก ฉีดวัคซีน 7,761 คน

“การปฏิบัติงานเชิงรุกในชุมชนช่วยให้การควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ กทม. เป็นไปได้จริงมากยิ่งขึ้น ผลประโยชน์เกิดขึ้นกับประชาชน ช่วยให้ผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงการตรวจและผู้ป่วยตกค้างอยู่ในชุมชนเข้าถึงบริการการปฏิบัติงาน CCR Team จึงควรดำเนินการต่อโดย กทม. หากปฏิบัติการอีก 2 สัปดาห์ จะช่วยการควบคุมโรค ผู้ป่วยได้รับการรักษาเข้าถึงยา ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล ลดอัตราการเปลี่ยนสีของผู้ป่วย และลดการเสียชีวิต” นายแพทย์ยงยศกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

โควิดวันนี้ 12 ส.ค.64 ป่วยใหม่นิวไฮ 22,782 ราย ตายอีก 147 คน
อาจารย์หมอโรคปอด เผย โควิดลงปอด อาการเป็นอย่างไร? พร้อมแนะวิธีดูแลตัวเองระหว่างรอเตียง
กทม. ตั้ง 14 จุดตรวจโควิด แบบ RT-PCR สำหรับผู้มีผล ATK เป็นบวก นัดล่วงหน้า ไม่เสียค่าใช้จ่าย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ