ประธานนิสิตจุฬาฯ แฉ "บอย สกล" ตีเนียนใช้บัตรปลอม แฝงตัวเข้าคลาส-ร่วมกิจกรรม

11 ก.ย. 61
จากกรณีเกิดกระแสในโลกออนไลน์ เมื่อชาวโซเชียลต่างร่วมกันแฉพฤติกรรมของชายรายหนึ่ง ที่อ้างว่าตัวเองเคยศึกษาในโรงเรียนชั้นนำของประเทศ ก่อนมาศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น มีการเผยแพร่ภาพนายบอยถือป้ายในงานกีฬาประเพณี จนเกิดแฮชแท็ก #บอยสกล ติดอันดับ 1 ใน 10 บนทวิตเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาพูดถึงพฤติกรรมการกล่าวอ้างว่าชายรายดังกล่าว ไม่ได้เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจริง (อ่าน : โซเชียลล่า “บอย สกล” ! รูมเมตแฉ แต่งชุดนิสิตเรียนจุฬาฯ ทุกวัน ยี้นิสัยชอบใส่ร้าย)
นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 11 ก.ย. 61 นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นายสกลมีพฤติกรรมที่แอบอ้าง และมักเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยบ่อยครั้ง และเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ในแต่ละครั้งที่นายสกลเข้าร่วมกิจกรรม มักจะเลือกกิจกรรมที่ไม่ระบุชื่อ ไม่ระบุรหัสนักศึกษา ส่วนการทำค่ายต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะเลือกเข้าร่วมค่ายจิตอาสา เนื่องจากเปิดรับด้วยความสมัครใจ จึงทำให้ไม่มีขั้นตอนในการคัดเลือกคนเข้าร่วมค่ายที่ซับซ้อน แต่ถ้าหากกิจกรรมนั้นจะต้องระบุชื่อ-รหัสนักศึกษา นายสกลมักจะนำชื่อ-นามสกุล และรหัสนักศึกษาของผู้อื่นมาแอบอ้าง เพื่อให้สามารถร่วมกิจกรรมได้
บอย สกล อ้างเป็นนิสิตจุฬาฯ ร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ พฤติกรรมการแฝงตัวเป็นนิสิตจุฬาฯ ยังมีการแอบเข้ามาเรียนในคลาสเรียนบางวิชา โดยมักจะเลือกคลาสเรียนรวมที่ไม่มีการเช็กชื่อ ไม่มีระบุตัวบุคคล ไม่มีการทำงานกลุ่มในคลาส แต่ถ้าหากมีการทำงานกลุ่ม นายสกลมักจะอ้างว่ามีกลุ่มแล้ว ซึ่งชื่อและรหัสนักศึกษาก็จะไม่ถูกระบุลงในชิ้นงานต่าง ๆ ด้วย และเมื่อมีการจัดการสอบกลางภาคหรือปลายภาค จะไม่เข้าห้องสอบพร้อมกับนิสิตคนอื่น ๆ และมักอ้างว่าสอบเก็บตัว ซึ่งการสอบเก็บตัวคือการสอบแยกกับคนอื่น เมื่อตารางสอบบางรายวิชาตรงกัน แต่ที่จริงนั้นไม่ได้มีการเข้าสอบรายวิชาใด ๆ ทั้งสิ้น นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรณีที่เข้าร่วมงานถือป้ายในงานประเพณีที่จุฬาฯนั้น กลุ่มนิสิตทีมที่จัดกิจกรรมงานประเพณี ได้รับชื่อ-สกุล ปลอมของนายสกล ที่ส่งมาขอถือป้าย เมื่อตรวจสอบจึงไม่พบความผิดปกติ อีกทั้งนายสกล ยังติดต่อมายังทีมที่จัดงาน เพื่อโน้มน้าวขอถือป้ายดังกล่าวด้วย ส่วนค่ายแนะแนวจุฬาฯ - ฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 8 นั้น เป็นค่ายที่เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ อีกทั้งนายสกลเข้าไปในฐานะผู้เข้าร่วม และบ่ายเบียงการให้ชื่อ-สกุล กับทางค่าย และเห็นว่าเป็นนักกิจกรรม จึงไม่ได้เอะใจที่จะตรวจสอบ
บอย สกล อ้างเป็นนิสิตจุฬาฯ ร่วมกิจกรรม
ส่วนพฤติกรรมการเข้าไปอ่านหนังสือ ในหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีคนพบว่านายสกล ใช้บัตรนิสิตรายอื่นในการเข้าใช้งาน จึงสามารถเข้า-ออก อาคารหอสมุดได้ และยังแอบอ้างว่าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มากว่า 4 ปี เข้ารับน้องและมีสายรหัส จนเป็นที่รู้จักของนักกิจกรรมชาวจุฬาฯ จนกระทั่งในปีนี้ 2561 มีการจัดกิจกรรมโครงการ “ค่าวิชาการกระดาษขาว” ซึ่งปีนี้นายสกล มีชื่อปรากฏเป็นนิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งจะต้องนำชื่อและรหัสไปบันทึกข้อมูลโครงการ แต่เมื่อนำไปบันทึกในระบบกลับไม่พบข้อมูลใด ๆ จากนั้นผู้ประสานงานโครงการ จึงส่งรายชื่อและรหัสมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่สภานิสิตฯ ปรากฏว่าไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับของนายสกล เมื่อทุกคนทราบข้อเท็จจริงว่าไม่ใช่นิสิตจุฬาฯ จึงเกิดเป็นประแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์ขึ้น
บอย สกล อ้างเป็นนิสิตจุฬาฯ
นอกจากนี้ นายธนวัฒน์ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดจากช่องโหว่ในการตรวจสอบตัวตนนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม ทำให้หลังจากนี้ทางมหาวิทยาลัยเอง คงต้องกลับมาทบทวนดูว่า มีขั้นตอนใดบ้างที่หละหลวม จนทำให้บุคคลภายนอกเข้ามาแอบอ้างสร้างตัวตนในรั้วมหาวิทยาลัยได้ อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหาร จุฬาฯ จะมีการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานข้อมูลอย่างชัดเจน ก่อนที่จะออกประกาศชี้แจงต่อไป และถ้าหากพบว่า นายสกล มีความผิดจริง ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายด้วย

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ