อาจารย์หนุ่มจุฬาฯ ปัดลวนลามนิสิตสาว ชี้ถูกใส่ร้ายหวังสกัดเป็นกรรมการบอล (คลิป)

23 ส.ค. 61
จากกรณีทวิตเตอร์แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับ อาจารย์วิชาแบดมินตัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับนิสิตผู้หญิง โดยมีลักษณะที่ส่อไปทางคุกคามทางเพศ กระทั่งสภานิสิตจุฬาฯ ยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของอาจารย์คนดังกล่าวแล้ว (อ่าน : นิสิตจุฬาฯ แฉ ครูหื่นลวงแต๊ะอั๋งถึง 7 คน พิเรนทร์สั่งออกกำลัง ดูเนินอก)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารจุฬาพัฒน์ 7
วันที่ 22 ส.ค. 61 เวลา 13.30 น. ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ลงพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารจุฬาพัฒน์ 7 ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และเป็นคณะที่อาจารย์คนดังกล่าวสอนอยู่ จากการสอบถามบุคลกรในอาคาร ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อาจารย์คนดังกล่าวก็ยังไม่มาสอนที่มหาวิทยาลัย
น.ส.ส้ม (นามสมมติ) นิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
น.ส.ส้ม (นามสมมติ) นิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตนไม่ทราบเกี่ยวกับข่าวในทวิตเตอร์ แต่ตนเคยเรียนวิชาวอลเลย์บอลกับอาจารย์คนดังกล่าว ตอนที่เรียนปี 1 ซึ่งเป็นวิชาบังคับ ในตอนนั้นอาจารย์ก็สอนปกติ ไม่ได้มีการแตะเนื้อต้องตัวใครเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ก็จะมีการถูกตัวเมื่อต้องสอนการเคลื่อนไหวทางกีฬา แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมที่เป็นการลวนลามแต่อย่างใด รวมถึงเพื่อนคนอื่นที่หน้าตาดี ก็ไม่มีใครถูกอาจารย์จับมือ จับแขน และทำพฤติกรรมอย่างที่เป็นข่าว ส่วนข่าวที่ออกไปนั้น ตนคิดว่าถ้าอาจารย์ไม่มีพฤติกรรมลักษณะนั้น หรือเป็นเรื่องเข้าใจผิด ก็อาจทำให้อาจารย์คนดังกล่าวเสื่อมเสียชื่อเสียงและหน้าที่การงานได้ จึงอยากให้มีการตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะนำเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ น.ส.ส้ม เล่าว่า ภายหลังข่าวที่เผยแพร่ออกไป ตนก็ค่อนข้างตกใจ เพราะจากที่ตนได้เรียนกับอาจารย์มา ก็คิดว่าอาจารย์คนดังกล่าวไม่น่าจะมีพฤติกรรมเช่นนั้น ซึ่งตนมองว่าอาจเป็นเพราะมุมมองของนิสิตแต่ละคนด้วยที่คิดว่าการจับแขนคือการลวนลาม แต่บางคนอาจจะไม่คิดแบบนั้น น.ส.ส้ม กล่าวว่า ตนมองว่า นิสัยของอาจารย์ที่เคยเป็นนักกีฬามาก่อน และสอนเด็กสายกีฬา รวมถึงเป็นคนใจดี ขี้เล่น อาจทำให้อาจารย์ลืมถือตัว และลืมคิดว่าจะต้องปฏิบัติกับเด็กคณะอื่นอย่างไร เพราะเด็กที่เรียนต่างคณะ ต่างความเป็นอยู่ ก็อาจจะแตกต่างนิสัยกันไป มุมมองก็ไม่เหมือนกัน แต่ตนไม่มีปัญหาเรื่องการแตะเนื้อต้องตัว นอกจากนี้ ตั้งแต่เปิดเทอม ตนก็ยังไม่ได้เจอกับอาจารย์คนดังกล่าว รวมถึงไม่รู้ด้วยว่าอาจารย์ยังมาสอนอีกหรือไม่
นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งกรรมการสอบสวนอาจารย์พละคนดังกล่าวแล้ว หลังจากนี้ต้องใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และเชิญคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งอาจารย์และนิสิตอีก 8 คน ที่อ้างว่าเคยถูกอาจารย์ลวนลามมาสอบสวน ซึ่งกระบวนการทั้งหมด ก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดวันใด แต่ทางมหาวิทยาลัยรับปากว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อประกันความมั่นใจให้กับนิสิตทุกคนว่าทางมหาวิทยาลัยจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีเพียงพยานบุคคลที่อ้างว่า เคยถูกอาจารย์คนดังกล่าวลวนลามมาก่อนหน้านี้ และนิสิตที่เพิ่งถูกกระทำ ซึ่งตอนนี้ก็มีประมาณ 7-8 คน แต่ก็ยังมีนิสิตอีกกลุ่มหนึ่งที่มาร้องเรียน แต่ไม่อยากเข้าสู่กระบวนการ เพราะไม่อยากถูกเปิดเผยชื่อ อย่างไรก็ตาม หากกรรมการสอบสวนแล้ว พบมูลความจริง ก็จะมีบทลงโทษสูงสุดคือการไล่ออก แต่จากการสอบสวนเบื้องต้น พบว่าสถานะของอาจารย์คนดังกล่าว ค่อนข้างคลุมเครือ และไม่แน่ชัดว่าเป็นอาจารย์พิเศษหรือไม่ แต่ตอนนี้ยืนยันได้ว่าอาจารย์คนดังกล่าวเป็นศิษย์เก่าของคณะวิทยาศาสตร์และการกีฬา ที่เข้ามาสอนผ่านช่องทางการติดต่อกับอาจารย์ที่สอนประจำอยู่คณะวิทยาศาสตร์และการกีฬา ซึ่งขณะนี้ อาจารย์พละคนดังกล่าวยังไม่มาสอน เพราะโดยปกติแล้วหากอาจารย์คนใดถูกนิสิตร้องเรียน เรื่องการคุกคามทางเพศ ทางมหาวิทยาลัยก็จะระงับไม่ให้มาสอนก่อน ซึ่งกรณีนี้ก็เช่นกัน
นายบุญศักดิ์ พลสนะ หรือ ซุปเปอร์แมน อดีตนักแบดมินตัน
นายบุญศักดิ์ พลสนะ หรือ ซุปเปอร์แมน อดีตนักแบดมินตันมือ 1 ของไทย เปิดเผยว่า การที่ครูพละสอนท่าแพล้งกิ้งให้กับนักศึกษาในช่วงโมงเรียนแบดมินตันนั้น ท่าแพล้งกิ้ง เป็นการออกกำลังกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อท้อง และกล้ามเนื้อหลัง ให้แข็งแรง จะช่วยนักกีฬาแบดมินตันให้คล่องตัวในช่วงที่แอ่นตัวตีแบด และนักกีฬาทุกประเภท ก็ควรฝึกฝนท่านี้ เพราะเป็นการเพิ่มพลังให้กล้ามเนื้อแขน และกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัว
อาจารย์พิเศษสอนแบดมินตัน
ด้าน อาจารย์พิเศษสอนแบดมินตัน ซึ่งเป็นกรรมการตัดสินกีฬาฟุตบอล เปิดเผยว่า การให้ข้อมูลเรื่องนี้ จะต้องผ่านทางคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการก่อน โดยจะต้องปรึกษาทางผู้ใหญ่ก่อนว่า จะสามารถให้สัมภาษณ์ได้หรือไม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด และเมื่อมหาวิทยาลัยชี้แจง ตนสามารถตอบได้ทุกคำถามที่สังคมข้องใจ ส่วนจะผิดหรือไม่นั้น ก็ให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเป็นกรรมการตัดสินฟุตบอล และขออย่าไปโยงกัน ถ้าพูดเรื่องกรรมการ แสดงว่าจะต้องมีฝ่ายที่ไม่ชอบตน และปั้นข่าวให้ตนได้รับความเสื่อมเสีย สุดท้ายอีกไม่นานความจริงก็จะปรากฏ

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ