"ธวัชชัย" แนะหมูป่าฟื้น ให้บวชลูกแก้ว แก้ซึมเศร้า - พระดัง เห็นดี แต่พ่อแม่สำคัญสุด (คลิป)

10 ก.ค. 61
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 61 ที่ผ่านมานายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัวให้กำลังใจทีมหมูป่า อะคาเดมี และบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่กำลังปฏิบัติภารกิจนำทั้ง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย พร้อมแนะแนวทางการดูแลสภาพจิตใจของเด็กหลังจากออกมาได้แล้ว
ภาพโพสต์ของนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ถึงทีมหมูป่าอะคาเดมี
วันที่ 9 ก.ค. 61 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงข้อความที่โพสต์ออกไปว่า ประเพณีปอยส่างลอง หรือ งานบวชลูกแก้ว เนื่องจากเป็นประเพณีที่แข็งแรงของภาคเหนือ และหลักพุทธศาสนานั้นตรงกับหลักจิตบำบัดที่เจ้าหน้าที่ต้องปฎิบัติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการได้บวชหลังจากน้อง ๆ มีความพร้อม จะสามารถป้องกันโรคซึมเศร้ารวมถึงสิ่งที่รบกวนจิตใจของน้อง ๆ ได้ อีกทั้งยังได้อุทิศส่วนกุศลให้กับจ่าแซม
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ เมื่อน้องออกมาได้แล้วอยากให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสภาพจิตใจของทั้ง 13 คน ให้ดี ฝากถึงสื่อมวลชนและครอบครัว รวมถึงคนใกล้ชิดของทั้ง 13 คน และอย่าตั้งคำถามในเชิงลบกับเด็ก ต้องรู้จักพูด รู้จักถาม เพราะบางคนอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะเหตุการณ์นี้อาจจะติดอยู่ในใจลึก ๆ ของน้อง ๆ แต่ท่านรองธวัชชัยก็เชื่อว่าน้อง ๆ เป็นนักกีฬาและมีโค้ชที่ดีเป็นผู้นำ น้อง ๆ จึงไม่น่าห่วงเท่าโค้ชเอก หรือ นายเอกพล จันทะวงษ์ เนื่องจากปัญหาส่วนตัวเรื่องไม่มีพ่อแม่ และพอเจอเหตุการณ์เช่นนี้โค้ชเอกอาจนำปัญหาต่าง ๆ มาปะติดปะต่อกันในเชิงลบ แต่ถึงอย่างไรโค้ชเอกไม่น่าจะไปถึงขั้นนั้น เพราะตอนนี้ผู้ปกครองทุกคนและประชาชนเข้าใจโค้ชเอก สุดท้ายฝากถึงผู้ที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับถ้ำหลวง เพราะตอนนี้ถ้ำหลวงกลายเป็นที่รู้จัก หากจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะตอนนี้ถ้ำหลวงมีเรื่องราวของบุคคลที่ยังมีชีวิต
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
ด้าน พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักคิดนักเขียน วัดสร้อยทอง กล่าวว่า ในมุมมองของพุทธศาสนา การบวชเป็นเรื่องที่ดี เมื่อเด็กออกมาจากถ้ำแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมองให้เห็นว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนที่ทำงานเสียสละเพื่อพวกเขาหลายคน และมีบางท่านต้องเสียชีวิต ถึงแม้ว่าครอบครัวผู้สูญเสียจะไม่ได้เรียกร้อง แต่อะไรที่เราทำได้เราก็ต้องทำ การบวชก็เป็นเรื่องที่ช่วยได้ หนึ่งคือเยียวยาจิตใจของเด็ก สองคือเยี่ยวยาจิตใจครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต พระมหาไพรวัลย์ แนะว่า ตอนนี้มีกฎจากมหาเถรสมาคม กำหนดระยะเวลาการบวชอย่างน้อย 15 วัน โดยให้หาเวลาที่สะดวก ไม่ต้องรีบร้อน อาจจะเป็นช่วงปิดเทอมก็ได้ แต่เราจะพึ่งการบวชเพื่อเยียวยาจิตใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการเยียวยาต้องใช้ความเข้าใจ การพูดคุยอบรบสั่งสอนจากพ่อแม่พี่น้อง พ่อแม่อาจจะทำได้ดีกว่าการบวชด้วยซ้ำ แต่ในแง่ของความสบายใจ หากเด็กมองว่าเขาเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ เด็กก็สามารถตอบแทนได้ด้วยการบวช เป็นสิ่งที่ควรทำ ทั้งนี้ พระมหาไพรวัลย์ฝากถึงการบวชล้างซวย ว่า ไม่อยากให้คนมองแบบนั้น เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มันเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ได้เกี่ยวกับเคราะห์กรรมหรือความซวย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเด็กเอง ไม่ควรโทษเวรกรรมเคราะห์กรรม ควรมองให้เป็นบทเรียนเกี่ยวกับการตัดสินใจและการกระทำ หากมองแบบนี้ เด็กจะได้นำสิ่งที่ทำผิดพลาดไปเป็นอุทาหรณ์บอกต่อคนอื่นได้ ในทางศาสนา การบวชล้างซวยหรือบวชแก้กรรมเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่เคยให้ใครเข้ามาบวชด้วยเหตุผลนี้ เมื่อบวชก็อยากให้เด็ก ๆ อาศัยความเป็นเณรอาศัยความเป็นพระ ทบทวนตัวเองว่าตอนที่ติดถ้ำนั้นได้บทเรียนอะไรบ้าง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ