ปิดหาดทรายน้อย ติดตั้งทุ่นตาข่ายป้องกัน "ฉลาม" - นักวิชาการยืนยันเป็น "ฉลามหัวบาตร"

18 เม.ย. 61
ความคืบหน้าเหตุนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ ถูกฉลามกัดขณะลงเล่นน้ำ บริเวณหาดทรายน้อย บ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันนี้ ( 18 เม.ย.) นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองหัวหิน
นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่วัดถ้ำเขาเต่า
รวมทั้งลงพื้นที่บริเวณวัดถ้ำเขาเต่า และพบปะพูดคุยกับพระที่วัดถึงการพบเห็นฉลามที่เข้ามาว่ายหากิน และไปดูบริเวณหาดทรายน้อย จุดที่จะมีการติดตั้งทุ่นและวางตาข่าย พร้อมพูดคุยแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังไม่ทราบ ถึงมาตรการและการประกาศห้ามนักท่องเที่ยวงดลงเล่นน้ำทะเลบริเวณหาดทรายน้อยเป็นการชั่วคราวประมาณ 20-30 วัน จนกว่าการติดตั้งทุ่นและวางตาข่ายจะแล้วเสร็จ
นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ หลังจากผู้เชี่ยวชาญได้ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า นักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ ถูกฉลามทำร้ายเป็นฉลามหัวบาตรที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง จากการตรวจร่องรอยบาดแผล ลักษณะของแนวฟันพบว่าเป็นลุกฉลาม อายุไม่เกิน 1 ปี ความยาวไม่เกิน 1 เมตร
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการวางแนวทางป้องกัน ได้มีการจัดเรือและโดรนมาสำรวจสภาพพื้นที่
เบื้องต้นได้ส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการวางแนวทางป้องกัน ได้มีการจัดเรือและโดรนมาสำรวจสภาพพื้นที่ และพูดคุยเพื่อหาข้อมูล สำหรับทะเลตรงนี้เป็นเขตอนุรักษ์ ไม่มีเรือเข้ามาทำการประมงเป็นเขตอภัยทาน และเขตพระราชฐาน ไม่มีนักท่องเที่ยวจึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล มีลักษณะของห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ซึ่งฉลามก็ถือเป็นสัตว์ที่อยู่ด้านบนของห่วงโซ่อาหาร คือเป็นสัตว์ผู้ล่าปลาขนาดเล็กในทะเล ซึ่งก็เป็นลักษณะปกติของทะเลไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการแจ้งเตือนไปยังโรงแรมต่างๆ ให้ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังในการเล่นน้ำทะเล เช่นไม่เล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำขุ่น น้ำลึก ไม่แต่งกายด้วยสีฉูดฉาดลงเล่นน้ำทะเล เป็นต้น นอกจากนี้จะมีมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การพบเห็นฉลามบริเวณนี้ถือเป็นแนวโน้มที่ดี ชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ที่มีสัตว์น้ำวัยอ่อนอยู่จำนวนมาก จากการตรวจสอบข้อมูลฉลามหัวบาตรจะออกหากินในช่วงที่อุณหภูมิเย็นลงหรือประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป ลักษณะการเข้าจู่โจมนักท่องเที่ยวไม่ใช่พฤติกรรมการล่า หรือการทำร้าย อาจเป็นเพราะฉลามตกใจนักท่องเที่ยว หรือคิดว่าขานักท่องเที่ยวเป็นอาหาร จึงเข้างับเพื่อทดสอบเหยื่อ อีกทั้งลักษณะบาดแผลก็มีความชัดเจน เป็นการกัดแล้วปล่อย ไม่ใช่กัดแล้วสะบัดเหยื่อเพื่อล่าเป็นอาหาร ทั้งนี้ก็ยอมรับว่า บาดแผลของนักท่องเที่ยวเกิดจากฉลามกัด และท้องทะเลบริเวณนี้ก็มีฉลามจริง แต่ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่ต้องวิตกกังวล เพราะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันวางแนวทางบริหารจัดการในการอยู่ร่วมกัน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำได้ และสัตว์ทะเลก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
โมเดลในการวางทุ่นตาข่ายเนื้ออวนป้องกันฉลาม
ขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้วางโมเดลในการวางทุ่นตาข่ายเนื้ออวนป้องกันฉลาม ปิดหน้าอ่าวหาดทรายน้อยระยะประมาณ  300 เมตร ซึ่งทุ่นตาข่ายนี้มีใช้กันในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมามีการติดตั้งทุ่นตาข่ายเพื่อป้องกันแมงกะพรุนกล่องเท่านั้น แต่ที่หัวหินจะเป็นแห่งแรกที่มีการติดตั้งทุ่นตายข่ายเพื่อป้องกันฉลาม ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ในระหว่างที่ยังไม่มีการติดตั้งทุ่นตาข่าย จะต้องมีการดูแลพื้นที่จากทุกฝ่าย และจะต้องปิดการท่องเที่ยวหาดทรายน้อยไปก่อนอย่างน้อย 20 วัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะมีการขยายผลไปติดตั้งทุ่นตาข่ายไปยังจุดอื่นๆของหาดหัวหิน เพื่อให้หัวหินเป็นชายหาดที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย นอกจากนี้จะจัดส่งทีมนักวิจัย นักวิชาการลงพื้นที่สำรวจหาข้อมูลกันอย่างจริงจัง แต่ก็มั่นใจได้ว่าฉลามหัวบาตรจะไม่เคลื่อนย้ายไปหากินพื้นที่อื่น เนื่องจากหาดหัวหินมีกิจกรรมชายหาดค่อนข้างเยอะ มีนักท่องเที่ยว เรือเพื่อการท่องเที่ยว และเรือประมง

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ