เตือนชุดตรวจโควิด-19 เกลื่อนเน็ต ชี้ความไวต่ำอย่าหลงเชื่อ เสี่ยงผลบวกปลอมตรงกับโคโรนาอีก 6 ตัว

22 มี.ค. 63

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารสุข แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย เพิ่ม 188 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 599 ราย ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 553 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 7 ราย ส่วนผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 45 ราย และเสียชีวิต 1 ราย รวมทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 307,277 ราย และเสียชีวิตรวม 13,048 ราย

897907

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก @Yong Poovorawan ระบุว่า ชุดตรวจอย่างรวดเร็วที่มีการขายทางออนไลน์ และมีการโฆษณานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน IgG IgM ซึ่งภูมิต้านทานดังกล่าว จะค่อย ๆ ขึ้นหลังการติดเชื้อ มีอาการแล้ว 5 วันขึ้นไป

ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะมาวินิจฉัยโรคที่มีอาการในระยะเริ่มแรก เพราะส่วนใหญ่ชุดตรวจอย่างรวดเร็วจะมีความไวต่ำและใช้ดูด้วยสายตา จึงยากที่จะบอกว่าเป็นบวกหรือลบ ในกรณีที่ขีดที่ขึ้นจางมาก ขออย่าเชื่อตามที่โฆษณา

ชุดตรวจหาภูมิต้านทาน ที่ใช้เครื่องมือตัว หรือที่เรียกว่า ELISA ยังต้องมีการเทียบค่า อีกมาก ปัจจุบันถึงแม้จะมีการจำหน่ายจะให้ใช้ในงานวิจัยเท่านั้น (RUO) research use only ยังไม่ให้นำมาใช้วินิจฉัยโรคเพื่อการรักษา

ในการทำชุดตรวจ ถึงแม้ว่าจะเป็นการตรวจหาตัวไวรัสให้ได้อย่างรวดเร็ว วิธีการคิดค้นจะมีหลักการคล้าย ๆ กันหมด ไม่ใช่เราคิดได้แต่เพียงผู้เดียว แต่จะต้องมีขั้นตอนศึกษาถึงหาความไวในการตรวจ เช่น ตรวจไวรัสได้กี่ตัว และจะต้องเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน ว่า ความไวเป็นอย่างไร มีความถูกต้องเท่าไหร่ และจะต้องหาความจำเพาะว่ามีความจำเพาะกับไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ไม่ใช่มีผลข้างเคียงให้ผลบวกปลอมกับไวรัสโคโรนาตัวอื่น ๆ อีก 6 ตัว โดยเฉพาะโคโรนาที่พบบ่อยและทำให้เกิดโรคหวัด 4 ตัว ได้แก่ OC43, 229E, NL63 และ HKU1 รวมทั้ง SARS CoV, MERS, และไวรัสที่ทําให้เกิดโรคทางเดินหายใจคนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และจะต้องทดสอบการทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งว่าได้ผลเท่าเทียมกัน reproducible

ขั้นตอนในการทำชุดตรวจ จึงมีขั้นตอนมากมายกว่าจะถึงนำมาใช้จริงได้ วิธีการคิดในห้องปฏิบัติการไม่ยากเลย แต่วิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความไวและความจําเพาะ มีขั้นตอนมาก อุปสรรคในบ้านเราคือการเก็บตัวอย่างไวรัสเกือบทุกชนิดของโรคทางเดินหายใจไว้เปรียบเทียบ เพราะยังมีปัญหา

ชุดตรวจที่มาจากต่างประเทศ ก็จะต้องผ่านการทดสอบความไวความจำเพาะและความถูกต้อง ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรค และที่มีอยู่ขณะนี้ยังเป็น research use only ใครที่จะซื้อมาใช้เอง รวมทั้งการโฆษณาทั้งหลาย ก็ขอให้คิดให้หนัก

818852

เช่นเดียวกับ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก @Ittaporn Kanacharoen ระบุว่า ชุดตรวจเร็วปกติมี 2 แบบดังนี้ 

1.ตรวจดูเชื้อ ซึ่งจะรู้ว่ามีเชื้อหรือไม่ เพื่อควบคุมตัวไม่ให้แพร่เชื้อต่อ

2.ตรวจดูภูมิคุ้มกัน IgG IgM นั่นคือแปลว่าติดเชื้อแล้วหายไปแล้ว ไม่ทันการควบคุมการแพร่เชื้อ คือแพร่ไปหมดแล้ว บอกได้แต่เพียงว่าหายแล้ว และจะไม่แพร่เชื้อต่อแล้ว

ที่สำคัญต้องดูเรื่อง "ความไว" หากมีความไวสูงก็จะตรวจเจอผู้ที่มีผลบวกได้มาก แต่อย่างไรก็ดีนอกเหนือจากความไวแล้วต้อง "แม่นยำ" ถ้าแม่นยำมากแปลว่าถูกต้อง แต่ถ้าความแม่นยำต่ำ ขึ้นผลบวกจริง แต่อาจจะไม่ได้ป่วย อันนี้อันตราย ดังนั้นแบบทดสอบต้องมีความไวสูง และความแม่นยำสูง เรียกว่า speed ต้องมาพร้อม sensitivity และ specificity และราคาต้องไม่แพง

หวังว่าแบบทดสอบที่ทางรัฐบาลจะออกมา จะเป็นทางออกที่ช่วยในการควบคุมโรคติดต่อมากกว่าปล่อยให้คนเป็นโรคแล้ว ออกไปติดต่อ เพราะตรวจแล็บแล้วรายงานผิด คิดว่าผลเป็นลบ (False Negative) เป็นสิ่งที่วงการแพทย์กลัว

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ทุบโต๊ะข่าว เป็นกระแส