เส้นทาง "กัญชา" ในไทย จากวัน "ปลดล็อก" สู่ "ดึงกลับ" เป็นยาเสพติด

12 มิ.ย. 67

ย้อนเส้นทาง "กัญชา" ในประเทศไทย ตีความไม่ตีขลุมกับความหมาย "กัญชาเพื่อการแพทย์" คืออะไร และความคืบหน้า กัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ ?

ความตื่นตัวเรื่อง กัญชา ในประเทศไทยนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างยิ่ง นับจากที่ พ.ร.บ. ยาเสพติด ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับใช้ เมื่อต้นปี กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเปิดทางให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

จากวัน "เปิดทาง" สู่ "ปลดล็อก" กระทั่งวันที่กัญชาจะถูก "ดึงกลับ" ไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง โดยอนุญาตให้ใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น

คำคุ้นหูที่ว่า กัญชาเพื่อการแพทย์ แท้จริงแล้วความหมายของมันคืออะไรกันแน่ มีการตีความคำนี้อย่างไร ? อมรินทร์ทีวี ออนไลน์ จะพาไปเจาะลึกก่อนถึง "คำตอบสุดท้าย" ว่า กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่?

กัญชาเพื่อการแพทย์ คืออะไร

คำว่า กัญชาเพื่อการแพทย์ ตามข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ FDA นั้นถูกตีความมาจากสารสกัดพื้นฐานจากพืชกัญชา เพื่อนำมารักษาผู้ที่มีปัญหาการเจ็บป่วยที่เข้าเงื่อนไขทางวิชาการ ที่มีการพัฒนาการวิจัยอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายทศวรรษ

กลุ่มโรค/กลุ่มอาการ มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ยืนยันว่าได้ประโยชน์จากการใช้กัญชา

• กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
• ลมชักที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน
• ปวดประสาท
• อาการคลื่นไส้จากเคมีบำบัด *โรคอื่นๆ ที่อาจได้ประโยชน์จากกัญชา อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

istock-1875946510

เส้นทาง "กัญชา" ในประเทศไทย
จากวัน "ปลดล็อก" สู่วันที่อาจถูก "ดึงกลับ" ไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ?

• พ.ศ. 2522 ประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ กำหนดให้พืชกระท่อม กัญชา เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ห้ามเสพ ห้ามผลิต หรือ ครอบครอง มีโทษรุนแรง รวมทั้งโทษทางอาญา

• พฤษภาคม 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้ ตั้งคณะทำงาน 4 คณะ เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการ เพื่อนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

• สิงหาคม 2562 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยยังคงจัดให้กัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 แต่ อนุญาตให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วย และศึกษาวิจัย จึงถือเป็นก้าวแรกของการปลดล็อกกัญชาเพื่อการรักษา

• 9 มิถุนายน 2565 มีการบังคับใช้กฎหมายด้วยการปลดล็อกตัวกัญชาออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด แต่ยังคงให้สารสกัดที่มีค่า THC ที่มากกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นสารเสพติดอยู่

• 8 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น

12 มิถุนายน 2567 ความคืบหน้าล่าสุด สรุป "กัญชา" จะกลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ ?

LAW ระบบกลางทางกฎหมาย เผยแพร่ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ... นำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นประเด็นการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ระหว่างวันที่ 11-25 มิ.ย.2567

ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 

1. กัญชา

พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

• เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
• ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
• สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชา

2. กัญชง

พืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

• เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
• ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
• สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
• เมล็ดกัญชง

3. พืชฝิ่น

4. เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย

ส่วนกรณียาเสพติดให้โทษ ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์ และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

รายละเอียดของร่างประกาศ ระบุว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568 เป็นต้นไป

istock-1221630813

อ้างอิงข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข, แพทยสภา, สสส., thaigov

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม