ศาลอาญายกฟ้องม็อบพันธมิตรชุดสอง ชุมนุมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

29 มี.ค. 67

ศาลยกฟ้องพันธมิตรชุด 2 ปิดสนามบินปี 51 “ปานเทพ” ลั่น เป็นคำพิพากษาที่งดงาม หลังถูกตราหน้า เป็นผู้ก่อการร้ายมานานกว่า 17 ปี

    
วันที่ 29 มี.ค. เวลา 10.00 น. ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบ พธม.บุกสนามบินดอนเมือง หมายเลขดำ อ.1087 /56 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์  ,น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์,นายการุณ ใสงาม, นายวีระ สมความคิด, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์,น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค หรือจอย อดีตนักแสดงชื่อดัง  ร่วมกับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ
    
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พ.ย.- 3 ธ.ค.2551 พวกจำเลยที่ 1-14 ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่ โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. และนำจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรด้าร์ ของบริษัท วิทยุการบินฯ ปิดกั้นสะพานกลับรถ ตรวจค้นตัวจนท.บริษัท การบินไทย ร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน ทำลายทรัพย์สินของบริษัท ของท่าอากาศยานไทยฯ เสียหาย 627,080 บาท เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง
    
ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าพวกจำเลย เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมมาจากหลายอาชีพ ทั้งศิลปิน นักร้อง ดารา สื่อมวลชน อดีตเอกอัคราชทูต มาชุมนุม เพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร มีการทุจริตเชิงนโยบาย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตรหลายคดี โดยเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนใจผู้อื่น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา

 

จากนั้นเวลา 11.30 น. ภายหลังการเข้าฟังคำพิพากษากรณีชุมนุมปิดล้อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ศาลอาญาพิจารณาประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ความยาว 51 หน้า มีข้อเท็จจริงยุตติ 10 หน้า โดยสรุปแล้ว 1. ข้อหาการฟ้องซ้ำ ศาลเห็นว่าด้วยพฤติการณ์ บุคคล ข้อหาคดีที่เคยมีการฟ้องร้องก่อนหน้านี้และจำเลยหนึ่งราย ร้องเป็นการฟ้องซ้ำการลงโทษจะซ้ำซ้อนหรือไม่ ศาลพิพากษาเห็นว่าพฤติการณ์ ข้อหา บุคคลที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาและสถานที่ เป็นคนละสถานที่ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ และศาลมีสิทธิ์ที่จะพิจารณา

ส่วนพฤติการณ์ของรัฐบาล เป็นพฤติการณ์ที่เป็นสาเหตุของการชุมนุม โดยศาลวิเคราะห์ตั้งแค่การก่อตั้งของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุในปี 2551 คือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างความผิดคดียุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งทุจริตการเลือกตั้ง มีความพยายามแก้ไขมาตราใน กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกอำนาจการตรวจสอบของ คตส.ในคดีทุจริตคอรัปชั่น โดยศาลเห็นว่าทั้งสองประเด็นนี้ เป็นประเด็นของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงการต่อต้านนำปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นเป็นมรดกโลกให้กับประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนั้นศาลยังได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งหมด ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรนั้น เป็นการชุมนุมภายใต้กรอบที่มีมีเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยตลอดระยะเวลาการชุมนุมจำเลยทั้ง 67 ราย ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ หรือมีอาวุธอยู่ในครอบครอง ศาลจึงเห็นว่าไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย การก่อกบฏ หรือก่อความวุ่นวาย

ส่วนเรื่องท่าอากาศยาน ศาลได้มีการะิจารณาวิเคราะห์ จากหลักฐานทั้งหมดด้วยพยานฝ่ายโจทก์เอง พบว่าไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยทั้ง 67 คน ทำความผิดอย่างไรที่ก่อให้เกิดการขัดขวางท่าอากาศยานได้จริงในทางปฏิบัติ แม้แต่ดาวเทียม ซึ่งเป็นทีวีการถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถกระทบต่อสัญญาณการบินได้ และพื้นที่การชุมนุมไม่ได้กระทบต่อการบิน ดังนั้นด้วยพยานฝ่ายโจทก์ประกอบกับการที่พันธมิตรยุติการชุมนุมแล้วไม่เกิดความเสียหายสามารถดำเนินการบินและให้บริการได้ทันทีสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความเสียหาย ศาลเห็นว่าไม่มีความผิดในการขัดขวาง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบินและพื้นที่ชุมนุมไม่กระทบ หรือความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้น

ส่วนการประทะ ซึ่งอาจมีเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม เช่น พยายามเข้าพื้นที่บางส่วนของผู้ชุมนุม การขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นการสั่งการของจำเลย 67 คน แต่อาจการกระทบกระทั่ง เป็นวิถีของการเกิดขึ้นเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งการ การยั่วยุ ให้กระทำการรุนแรง ศาลพิจารณาจำเลยทั้ง 67 คน ล้วนมีเจตนาอย่างชัดเจน ว่าให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ และยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ศาลจึงพิพากษาว่า การกระทำของภาครัฐในเวลานั้นทั้งการทุจริตการเลือกตั้ง การทุจริตคอรัปชั่นทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และพวกเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษาจำนวนมาก รวมถึงศาลพิจารณาการกลับมาของนายทักษิณ ที่หลบหนีไป 15 ปี และการกลับมาขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยข้อความว่าสำนึกผิด ยอมรับการกระทำความผิด แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ฯ มีมูลเหตุของการเจตนารมย์เป็นเรื่องจริง ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่ใช่เป็นไปด้วยประโยชน์ส่วนตัวแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

และประเด็นสุดท้าย หลังศาลพิจารณาว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธศาลยังได้พิจารณาพิจารณา เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กระทำการลงไปเพื่อขัดขวาง งดเว้นสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน จะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรมโดยเฉพาะการชุมนุมของพันธมิตรฯ แม้กระทบต่อการบินบ้างแต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าการกระทำความผิดพ.ร.ก. ฉุกเฉินจึงไม่เข้าข่าย เพราะว่าได้รับการยืนยันว่าในเวลาต่อมา มีการหลบหนีคำพิพากษาของนายทักษิณ และการยอมรับความผิด แม้จำเลยจะกระทบต่อประชาชน ผู้ใช้สนามบินอยู่บ้าง แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงไม่เป็นความผิดฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด 67 คน

คำพิพากษาเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งตนสรุปเพียงใจความสำคัญบางส่วนเท่านั้น แต่ความงดงามและความครบถ้วนของเนื้อหาไม่สามารถจะตัดทอนได้จากคำพิพากษาชุดนี้ จนอาจจะบอกว่าเป็นการเยียวยาความรู้สึกของพวกเราในฐานะผู้ที่ถูกกระทำมา 17 ปี ว่าพวกเราเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยโทษที่รุนแรง โทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือการก่อการร้าย ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นแค่พิธีกรเป็นประชาชน เป็นศิลปิน แต่คนที่อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค ไม่เคยออกมาเรียกร้องหรือเห็นใจของการชุมนุมของพวกเรา แต่คำพิพากษานี้ให้ความเป็นธรรมกับพวกเราที่ต่อสู้และเคารพขบวนการกระบวนการยุติธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนทำให้จำเลยจำนวนมากที่มาฟังคำพิพากษา น้ำตาซึม และน้ำตาไหลออกมา เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรมจากการพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน 17 ปี

เมื่อถามว่าถูกลิดรอนสิทธิ์มานานกว่า 10 ปี หากอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ จะมีการฟ้องกลับหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ตั้งแต่การประทับรับฟ้องจำเลยทั้งหมดใช้สิทธิ์ในการชุมนุมเท่านั้น แม้ไม่ใช่แกนนำแต่ถูกกวาดดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และพวกเขาเหล่านั้นสูญเสียอิสรภาพ ถูกตราหน้ามาตลอด 17 ปีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ผู้ยึดสนามบินผู้ ก่อความไม่มั่นคงทำลายประเทศชาติ เมื่ออ่านคำพิพากษาและพิสูจน์ความจริง เราได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการสู้คดีและในคดีนี้แม้แต่ตนเองที่ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ซักคัดค้านด้วยตนเองในสิ่งที่กระทบต่อตนเพื่อพิสูจน์ความจริง ดังนั้นพวกเราไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน เราต่อสู้ในทุกประเด็นที่เราสู้ได้ ซึ่งศาลพิพากษาในคดีนี้ นอกจากการตราหน้าแล้วเราสูญเสียการเดินทางไปต่างประเทศ ต้องเสียเงินหลายแสนบาทเพื่อที่จะเดินออกไป ทั้งถูกบันทึกตลอดว่าพวกเราเป็นอาชญากร ทั้งที่พวกเราเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนคำนึงถึงการต่อต้านการทุจริตการเลือกตั้ง และการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งถือว่าเป็นคำพิพากษาที่งดงามที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส