ศาลสั่งจำคุก อดีตพระอาจารย์คม 468 ปี คดียักยอกเงินวัดกว่า 300 ล้านบาท

20 มี.ค. 67

ศาลสั่งจำคุก อดีตพระอาจารย์คม 468 ปี คดียักยอกเงินวัดกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่ผู้ต้องหาคนอื่น รับโทษลดหลั่นกันลงไป

วันที่ 20 มี.ค.67 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 ยื่นฟ้อง นายคม หรือ พระอาจารย์คม อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี กับพวกรวม 9 คนเป็นจำเลย 

คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาสวัดวัดป่าธรรมคีรีเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย จำเลยที่ 2,4 เเละ6-9 เป็นพระลูกวัด จำเลยที่ 3,5 เป็นฆราวาส ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เบียดบังเงินสดที่มีผู้บริจาคให้แก่วัด ป. ผู้เสียหาย โดยนำเงินเก็บรักษาไว้ที่กุฏิจำเลยที่ 1 แล้วยินยอมให้จำเลยที่ 2,3 นำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารชื่อบัญชีจำเลยที่ 3 และบุคคลอื่นที่มีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 3 เบิกถอนได้แต่เพียงผู้เดียวรวม 76 ครั้ง นอกจากนี้ยังนำส่งมอบให้จำเลยที่ 3 เก็บไว้เป็นเงินสดในที่พักอาศัยของจำเลยที่ 3 

ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้เป็นเงิน 51,918,170 บาทและระหว่างวันที่ 1-7 พ.ค. จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์ของวัดป่าธรรมคีรีผู้เสียหายไป โดยจำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2,4,6,8 แล้วก่อนจำเลยที่ 1,2เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครได้สั่งการให้จำเลยที่ 4,6,8ขนย้ายทรัพย์สินออกจากกุฏิของจำเลยที่ 1 และที่2ไปซุกซ่อนตามสถานที่ต่างๆ ภายในวัด จำเลยที่ 4,6,8 จึงขนย้ายทรัพย์สินไปซุกซ่อนไว้เพื่อรอฟังคำสั่งจากจำเลยที่ 1,2 แจ้งว่าจะให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกจากวัดเมื่อใด ต่อมาวันที่ 7 พ.ค.66 

จำเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 9 ไปแจ้งแก่จำเลยที่ 4-8 ช่วยกันขนย้ายทรัพย์สินบางส่วนใส่รถตู้ออกไปซุกซ่อนไว้ที่อื่นนอกวัด โดยมีบางส่วนยังคงซุกช่อนอยู่ในวัดและอยู่ในกุฏิของจำเลยที่ 1 ซึ่งขนย้ายไปยังไม่หมด การกระทำของจำเลยที่ 2,4-9เป็นการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไป และเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดรวมเงินสดและทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นจำนวน 1,454 รายการ รวมราคาเป็นเงินประมาณ 299,505,992 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,91,147,157 พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา172 

ศาลพิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ชี้ช่องมีน้ำหนักมั่นคงให้ฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรีเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา จำเลยที่ 2 เป็นประธานสงฆ์ สั่งการให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของวัดป่าธรรมคีรี และบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบัญชีสำหรับฝากเงินที่วัดได้รับบริจาค นำมาเก็บรวบรวมไว้โดยมิได้จัดทำบัญชีแจกแจงตามหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ 

แล้วนำเงินดังกล่าวไปส่งมอบให้จำเลยที่ นำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารชื่อจำเลยที่ 3 และบัญชีเงินฝากธนาคารบุคคลอื่นที่มีการขอให้เปิดบัญชีให้ไว้โดยให้จำเลยที่ 3 มีอำนาจเบิกถอนเงินเพียงผู้เดียวโดยไม่ปรากฎว่าวัดมีสิทธิเรียกร้องในเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว รวม 76 ครั้ง และบางส่วนนำเก็บเป็นเงินสดไว้ในที่พักอาศัยจำเลยที่3 แม้จำเลยที่ 1-3 ยกข้อต่อสู้ว่าเป็นเงินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 แต่ข้ออ้างดังกล่าวปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งที่อยู่ในหน้าที่รู้เห็นของจำเลยที่ 1เเละ 2 

แต่จำเลยที่ 1-3 มิอาจแจกแจงแสดงรายการบัญชีของเงินดังกล่าวได้ หากแม้มีเงินที่จำเลยที่ 2 ได้รับบริจาคส่วนตัว เงินดังกล่าวก็ย่อมปะปนระคนกันกับเงินอันเป็นทรัพย์สินของวัดมิอาจแยกแยะได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจัดการทรัพย์สินของวัดโดยมิชอบ และมีลักษณะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย โดยมีจำเลยที่ 2,3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด 

ส่วนเงินสดและทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตำรวจพบและยึดไว้เป็นของกลางภายในวัด พยานหลักฐานที่โจทก์ชี้ช่องมีน้ำหนักมั่นคงฟังยุติได้ว่าวันที่ 1 พ.ค.66 อันเป็นวันก่อนที่จำเลยที่ 1 ลาสิกขาจำเลยที่ 4,8 ร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินของกลางดังกล่าวที่เก็บอยู่ในวัดถือว่าอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เจ้าอาวาส ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้จัดทำรายการบัญชีแจกแจงทรัพย์สินไว้เช่นกัน นำออกไปซุกซ่อนไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด ตามที่จำเลยที่ 1,2 สั่งการ แล้วจำเลยที่ 4,8 ช่วยกันขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวเปลี่ยนที่ซุกซ่อนเร้นครอบครองแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลายครั้ง เพื่อหลบเลี่ยงให้พ้นไปมิให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของวัดหรือเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบ 

ต่อมาวันที่ 7 พ.ค. 66 จำเลยที่ 2 สนทนาทางโทรศัพท์ใช้ให้จำเลยที่ 9 แจ้งแก่จำเลยที่ 4,8 ขนย้ายทรัพย์ดังกล่าวออกไปนอกวัด จำเลยที่ 4-9 จึงร่วมกันขนย้ายทรัพย์ใส่รถตู้ให้จำเลยที่ 5 ขับออกจากวัดไปจอดไว้ที่บ้านพักอาศัยจำเลยที่ 5 อันมีวัตถุประสงค์ต่อเนื่องกับการขนย้ายทรัพย์ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นกรรมเดียว 

แม้จำเลยที่ 4-9 ไม่ทราบถึงพฤติกรรมทางเพศของจำเลยที่ 1,2 ที่ถูกกล่าวอ้างในรายงานและสำนวนการสอบสวน ประกอบกับด้วยสถานภาพของจำเลยที่ 2 ที่แสดงออกต่อสาธารณะ ซึ่งแม้วิญญูชนทั่วไปหากแต่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดและอยู่เป็นช่วงระยะเวลาที่เพียงพอให้ได้มีโอกาสรับรู้หรือสังเกตเห็นการกระทำอันเป็นเครื่องซี้เจตนาในใจ ก็ย่อมไม่อาจทราบถึงพฤติการณ์หรือเจตนาในใจที่จำเลยที่1,2ปกปิดไม่แสดงออกได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินภายในวัดได้มาจากการบริจาค ของประชาชน ไม่มีการจัดทำรายการบัญชีทรัพย์สินแจกแจงให้ปรากฎชัดแจ้งว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1,2 

ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดอันจะพอให้เข้าใจได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวล้วนมิใช่เป็นทรัพย์สินของวัดอย่างแน่แท้ จึงไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่4-9ไม่รู้หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงดังกล่าว ขณะจำเลยที่ 4,8ร่วมขนย้าย ก็ทราบได้ว่าจำเลยที่1,2สั่งการให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินจากที่เก็บเดิมอันมีลักษณะเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์ ทั้งต่อมาจำเลยที่ 4-9 ต่างก็ทราบว่า จำเลยที่ 1,2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดี มีการแต่งตั้งรักษาการแทนเจ้าอาวาส มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของวัด แต่จำเลยที่ 4-9ก็เลือกกระทำการช่วยเหลือจำเลยที่1,2ชุกช่อนยักย้ายทรัพย์ดังกล่าว แม้อ้างว่าด้วยเหตุที่เคารพศรัทธาจำเลยที่ 2 ภายหลังบอกที่ซุกซ่อน ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งให้จำเลยที่ 5 ขับรถนำทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนโดยไม่ปรากฎทรัพย์ขาดหายไปก็ตาม พยานหลักฐานที่จำเลยยกขึ้นอ้างก็ไม่มีน้ำหนักหักล้างแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาเป็นอย่างอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1,2,4,8จึงเป็นการร่วมกันเบียดบังทรัพย์ของวัดโดยทุจริต 

คดีฟังยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดและเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด จำเลยที่ 3เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด จำเลยที่ 4,8 ร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่เมื่อจำเลยที่ 2,3,4,8 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน ขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ 

จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือ หน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ส่วนจำเลยที่ 5,6,7,9เข้าร่วมกระทำการดังกล่าวภายหลังจากจำเลยที่ 1 ลาสิกขา เมื่อวันที่ 2 พ.ค.สิ้นสถานะเจ้าพนักงานแล้ว 

จึงมีความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำของจำเลยที่ ในฐานะผู้ใช้นั้นย่อมเกลื่อนกลืนกับการกระทำของตนที่ได้เป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดข้างต้นแล้ว และเมื่อการกระทำของจำเลยที่1,2,3,4 เเละ8 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก 

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 ,3,4,8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 172ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 

จำเลยที่ 5,6,7,9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1,2,3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสียและเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือ เป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย 

ลงโทษจำเลยที่ 2,3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปี รวม 78 กระทง คงจำคุก 468 ปี 

จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4 ปี รวม 78 กระทง คงจำคุก 312 ปี, จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 4 ปี รวม 77 กระทง คงจำคุก 308 ปี, จำคุกจำเลยที่ 4,8 คนละ 3 ปี 4 เดือน, จำคุกจำเลยที่ 5-7,9 คนละ 3 ปี การเสนอแนวทางชี้ช่องพยานหลักฐานและนำสืบของจำเลยที่ 5-9 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 4,8 คนละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน คงจำคุกจำเลยที่ 5-7,9 คนละ 2 ปี, จำเลยที่ 1,2 และจำเลยที่ 3 เมื่อรวมโทษ ทุกกระทงแล้วให้จำคุกคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 4-9ให้ยกฟ้อง

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส