สส.พัทลุง ห่วงวิกฤต พะยูนไทย เหตุหญ้าทะเลลดฮวบ สะท้อนวิกฤตโลกร้อน

16 มี.ค. 67

 

สส.พัทลุง ห่วงวิกฤต พะยูนไทย เหตุหญ้าทะเลลดฮวบ สะท้อนวิกฤตโลกร้อน จำนวนพะยูนในตรังลดลงน่าใจหาย หวังรัฐบาลเร่งหามาตรการช่วย 

วันที่ 16 มี.ค. 67 นาย ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพ พะยูนผอมที่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากโดยเฉพาะในโซเชียลว่า เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ของ พะยูนไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤตจริง และอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้ อีกทั้งยังสะท้อนภาพรวมของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลไทยด้วย 

สาเหตุสำคัญที่สุดตอนนี้คือเรื่องอาหาร นักวิชาการชี้ว่าตอนนี้มีปัจจัยหลักจากเรื่องโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้น้ำทะเลลดลงทำให้แสงแดดแผดเผาตายไปกว่าครึ่งนอกจากนี้ก็มีเรื่องสารเคมีและตะกอนจากโครงการพัฒนาชายฝั่ง ทำให้หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว 

"เกาะลิบงและเกาะมุกด์คือแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ ทำให้มีฝูงพะยูนมากที่สุดในแถบนี้ จะเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูนไทยก็ว่าได้ แต่ประชากรสำรวจพะยูนน่าใจหายมาก ที่ตรังจากปีที่แล้ว 194 เหลือ 36 ตัว เฉพาะปี 2567 มีพะยูนตายไปแล้วนับสิบตัวในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น" 

นายร่มธรรม ระบุเพิ่มเติมว่า การที่ฝูงพะยูดลดจำนวนลงค่อนข้างมาก นอกจากการตาย ส่วนหนึ่งได้อพยพตามแหล่งอาหารไปที่อื่น ขณะที่บางส่วนเริ่มปรากฏตัวตามท่าเรือบ่อยขึ้น ทั้งที่ปกติพวกเขาจะไม่เข้าใกล้คน แต่นั่นเพราะพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาคือพวกเขากลับไปติดเครื่องมือประมงและทำให้ตายหรือบาดเจ็บ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการตายของพะยูนสูงขึ้น 

อีกปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม คือขยะพลาสติกและอื่นๆที่กลายเป็นขยะทะเล ดังเช่น กรณีของลูกพะยูนมาเรียมและยามีล ที่ลำไส้อุดตันและติดเชื้อตายไปจากการกินขยะพลาสติก ซึ่งไม่ใช่เป็นภัยคุกคามแค่พะยูนเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดด้วย เช่น เต่าทะเลที่มีจำนวนลดลงเช่นกันจากการสำรวจล่าสุด 

"หญ้าทะเลและพะยูนมีความสำคัญและสัมพันธ์กันอย่างมากต่อระบบนิเวศใกล้ชายฝั่ง เพราะพะยูนจะทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลจากการกินแล้วถ่ายออก การกิน การเล็มทำให้หญ้าทะเลต้นเล็กๆได้รับแสง แตกกอและเติบโตได้ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็กและลูกๆของมัน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลเสมือนเป็นแหล่งอนุบาล ดังนั้น การหายไปของพะยูนและหญ้าทะเลจึงเป็นสัญญาณเตือนถึงการหายไปของสัตว์ทะเลอื่นๆในอนาคตด้วย 

"การดูแลรักษาพะยูนไม่ให้สูญพันธุ์ หญ้าทะเล รวมถึงทรัพยากรทางทะเล เราจึงไม่อาจปล่อยให้เป็นภาระของคนตรังหรือคนใต้ดูแลกันไปตามมีตามเกิดได้ หลายประเทศก็เผชิญเหมือนกัน สะท้อนสถานการณ์วิกฤตภาวะโลกร้อน หรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ขั้นวิกฤต ส่งผลกระทบไปทั่วทุกพื้นที่ ทั้งบนบก และในทะเล ทั้งต่อประชาชน และสิ่งมีชีวิต ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในระดับวาระแห่งชาติ ต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ และมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาว"

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส