TK เผยผลประกอบการ 2566 รายได้ 1,653.9 ล้านบาท ปันผล 0.25 บาท เน้นคุณภาพลูกหนี้เป็นหลักในประเทศ มุ่งโตต่างประเทศ คู่พัฒนาธุรกิจใหม่
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานปี 2566 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 28 ล้านคน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านล้านบาท ส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน เช่น ยอดส่งออกหดตัว 1% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานที่ยังคงสูง รวมถึงปัญหาสงครามที่ยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องและปรับตัวลงอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาพรวมเศรษฐกิจจากรายงานเศรษฐกิจไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยขยายตัว 1.9% ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงกับการดำเนินงานของ TK ในปีที่ผ่านมา
ด้วยปัจจัยเสี่ยงข้างต้น TK ดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง ทั้งด้านการขยายธุรกิจและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ด้านการบริหารจัดการภายใน เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงาน การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการดำเนินงาน การบริหารต้นทุนต่าง ๆ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ TK ในปี 2566 ที่ผ่านมาคงมีกำไรสุทธิ 92.1 ล้านบาท ลดลง 74.9% จาก 367.1 ล้านบาทในปี 2565 และมีรายได้รวม 1,653.9 ล้านบาท ลดลง 15.1% จาก 1,947.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 125 ล้านบาท โดยจะปิดสมุดพักการโอนหุ้นเพื่อรับเงินปันผลในวันที่ 14 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นี้ เป็นการปันผลต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 นับตั้งแต่บริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546
ด้านสถานะทางการเงิน TK มีเงินสดและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 2,179.5 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ขยายตัวธุรกิจในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นโดยไม่ต้องกู้ยืม เป็นการคุมต้นทุนทางการเงิน เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการให้บริการเช่าซื้อในประเทศ การขยายพอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศทั้งในกัมพูชาและ สปป.ลาว รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบริการ “ทีเค รถแลกเงิน” จำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย และบริการใหม่ล่าสุด TK ME ทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้รถจักรยานยนต์ แต่ไม่ต้องการครอบครองทรัพย์สิน
“ในปี 2567 นี้ TK มีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นคุณภาพลูกหนี้ในประเทศ ในขณะที่จะขยายพอร์ตในต่างประเทศให้สัดส่วนสูงกว่า 40% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยในปี 2567 จะหดตัว TK จึงปรับกลยุทธ์มุ่งควบคุมคุณภาพลูกหนี้ที่เข้มกว่าเดิม ในขณะที่ยังมองหาโอกาสในการสร้างรายได้จากการพัฒนาธุรกิจใหม่ และเติบโตแบบยั่งยืน” นางสาวปฐมา กล่าว
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2566 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,658.8 ล้านบาท ลดลง 12% จาก 4,158.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปรับให้สอดรับกับการมีผลบังคับใช้ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาของ สคบ. และเหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ด้านการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าลูกหนี้การค้า บริษัทฯ เห็นความสำคัญของการมีสำรองที่เพียงพอ ณ สิ้นปี 2566 มีสำรองจำนวน 367.8 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 8% และมี Coverage Ratio ที่ 113.6% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 344.4 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7% และมี Coverage Ratio ที่ 109.8% ณ สิ้นปี 2566 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 6,404.7 ล้านบาท ลดลง 2.3% จาก 6,558.3 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 815.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 % จาก 800.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565
ในปี 2567 นี้ คาดการณ์ว่าตลาดรถจักรยานยนต์จะชะลอตัวและมียอดขายประมาณ 1.7 ล้านคัน หรือลดลง 9% จาก 1.8 ล้านคันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การซื้อรถจักรยานยนต์ ผู้บริโภคเพียง 20% จ่ายเป็นเงินสด ขณะที่ 70 – 80% ใช้บริการไฟแนนซ์ และคาดการณ์ว่าตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 68,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 75,000 ล้านบาทจากปีก่อน ในส่วนของหนี้เสียจะมีเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจากการคาดการณ์ดังกล่าว ในปีนี้ TK จึงต้องเน้นการบริหารคุณภาพสินเชื่อ ระมัดระวัง และควบคุมคุณภาพลูกหนี้มากยิ่งขึ้น โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยใช้ 2 หลักการ คือ รายได้มากกว่าค่าผ่อนชำระ โดยต้องไม่น้อยกว่า 3 เท่า และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ Debt Servicing Ratio (DSR) ลูกหนี้ที่ดีควรมีไม่สูงจนเกินไป DSR อยู่ระดับ 30 – 40% เนื่องจากลูกค้ามีการผ่อนชำระหนี้หลายรายการ
“นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ธุรกิจเช่าซื้อในประเทศกำลังติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำลังจะออกมาเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงเกณฑ์การเข้ามาดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราพร้อมเดินหน้าบริหารงานภายใต้บริบทใหม่ ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน บริหารลูกหนี้เพื่อสินเชื่อที่มีคุณภาพ ขณะที่สร้างโอกาสเติบโตทั้งในธุรกิจเช่าซื้อที่เราเชี่ยวชาญ ด้วยการขยายตลาดในต่างประเทศ ควบคู่กับการเพิ่มรายได้จากบริการใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง อย่าง TK ME ที่เพิ่งทดลองให้บริการที่เป็นทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้รถจักรยานยนต์ แต่ไม่ต้องการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งได้รับการตอบรับดีขึ้นเป็นลำดับ” นายประพลกล่าว