จับได้แล้ว! เสือโคร่งหิวโซ สิ้นฤทธิ์หลังกินหมูชาวบ้าน

20 ก.พ. 67

จับได้แล้ว! ยิงยาสลบเสือโคร่ง “บะลาโกล” สิ้นฤทธิ์หลังกินหมูชาวบ้าน โดยนำตัวไปสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

ล่าสุดกลางดึกเมื่อเวลา 21.50 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน ร่วมปฏิบัติการติดตามหาร่องรอยเสือโคร่ง โดยการปรับแนวทางปฏิบัติงานตลอดเวลาตามสถานการณ์ตลอดเวลา 5 วัน โดยให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน 50 นาย แบ่งกำลังคอยเฝ้าระวังทั้งในหมู่บ้านและควบคุมพื้นที่ปิดล้อมป่ามะขามและป่าไผ่ เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ส่วนคณะทำงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี ได้ร่วมกันตรวจสอบบริเวณที่ติดกับดักเอาไว้แต่เสือโคร่งยังไม่ติดกับดักแต่อย่างใดกระทั่งกลางดึกเวลาประมาณ 21.50 น.วันที่ 20 กุมภาพันธ์ กล้อง camera trap จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWFประเทศไทย) จับภาพเสือโคร่งเดินย้อนเส้นทางจากหลังวัดน้ำตกสำนักวิปัสนากรรมฐานน้ำตกคลองลานเข้ามากินเหยื่อที่ทำการล่อไว้แล้วติดกับดักที่ขา จากนั้นทีมยิงยาสลบที่ซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ได้ยิงยาสลบเข้าไป 1 เข็ม

ขณะที่นายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้รุดเข้าทำการวางยาสลบและประสานเจ้าหน้าที่อุทยานที่อยู่รอบนอกรีบหามร่างเสือโคร่งนำออกมาจากป่า ตรวจสุขภาพแล้วนำเข้ากรงที่นำมารอไว้อย่างรีบเร่ง เนื่องจากเกรงหมดฤทธิ์ยากันไม่ให้ถ่ายภาพและบันทึกภาพ คุมผ้าดำปิดกรงใส่รถปิกอัพของหน่วยงานเดินทางไปที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตำบลระบำอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรเกรงจะหมดฤทธิ์ยาแล้วตื่นตะหนก

จากการตรวจสอบสุขภาพเสือโคร่งเบื้องต้นเป็นเสือโคร่งเพศเมีย อายุประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นเสือรุ่นความยาวลำตัวประมาณ 1.50 เมตร สูงประมาณ 60 เซนติเมตรร่างกายอ้วนขึ้นจากเดิมเพราะได้กินเหยื่อที่เป็นอาหารไปหลายวัน จากการประเมินสุขภาพแล้วไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่12(นครสวรรค์) จะต้องนำไปดูแลฟื้นฟูบำรุงร่างกายเสือโคร่ง ก่อนติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่งก่อนทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติต่อไป

ส่วนรายละเอียดทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่12(นครสวรรค์)จะแถลงข่าวและความคืบหน้าต่อไป

โดยเสือโคร่งคลองลาน ทีมนักวิจัยเสือที่ติดตามตั้งชื่อให้เป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “บะลาโกล” แปลว่า “คลองลาน”

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส