มันส์ ไม่ ทิ้ง พบขยะถูกคัดแยกแล้ว 5,035 กิโลกรัม ถูกส่งไปรีไซเคิล

19 ธ.ค. 66

เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล เปิดโหมดซ่า รักษ์โลกกับแคมเปญ “มันส์ ไม่ ทิ้ง” หลังจบงาน ขยะที่ถูกคัดแยกแล้ว 5,035 กิโลกรัม ถูกส่งไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

นายราลสตัน เซคัวร่า ผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายแฟรนไชส์ธุรกิจเครื่องดื่ม ในไทย ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวว่า “แคมเปญ ‘มันส์ ไม่ ทิ้ง’ ตอกย้ำ กลยุทธ์ pep+ (PepsiCo Positive) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ครบวงจรอย่างยั่งยืน โดยมีหัวใจสำคัญในการกำหนดวิธีการที่บริษัทฯ จะสร้างความเติบโตและคุณค่าจากการดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัดทรัพยากรโลก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่โลกและประชากร ซึ่งบิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ถือว่าเป็นงานที่ ‘เป๊ปซี่’ เป็นผู้สนับสนุนหลักในทุกๆ ปี การที่เป๊ปซี่โค ประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการขยะผ่านแคมเปญ ‘มันส์ ไม่ ทิ้ง’ ในครั้งนี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทฯในการหาหนทางเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”

1-photo-for-post-pr-scoop_was_1

ด้าน นายอชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หนึ่งในวิธีการจัดการขยะที่ดีต่อโลกอีกวิธีหนึ่ง ก็คือการหมุนเวียนให้ขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบได้อีกครั้ง หรือเรียกว่าการจัดการแบบ Closed-loop โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวดพลาสติก PET และกระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วที่ถูกคัดแยกอย่างดี ก็จะกลายเป็นวัตถุดิบที่สะอาดนำกลับมารีไซเคิลหมุนเวียนผลิตเป็นขวดหรือกระป๋องใหม่ได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือจัดแคมเปญ “มันส์ ไม่ ทิ้ง” ในงานเป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Sustainable Packaging Management) ของบริษัทฯ ที่ส่งเสริมการใช้ขวดจากพลาสติกรีไซเคิล หรือที่เรียกว่าขวด rPET เพื่อลดการใช้พลาสติกใหม่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ตอกย้ำค่านิยมองค์กร ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ (Growing for Good)” 

ขณะที่ นายยุทธนา บุญอ้อม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงานโชว์บิซ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด  ผู้จัดงาน เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 13 ขอบคุณ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย และ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย พันธมิตรสำคัญ ที่ทำให้งานเป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการสร้างความสุขให้กับแฟนเพลง พร้อมๆ ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยแคมเปญ “มันส์ ไม่ ทิ้ง” ได้ยกระดับของการจัดมิวสิคเฟสติวัลให้สนุกอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“สำหรับงานบิ๊กเมาน์เท่นครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้น ของการจัดงานในรูปแบบของ อีโค่-เฟรนด์ลี่ มิวสิคเฟสติวัล ซึ่งเป็นเทรนด์ของการจัดเทศกาลดนตรีทั่วโลก และเราในฐานะผู้จัดงานขอขอบคุณแฟนเพลงที่ให้ความร่วมมือในงานครั้งนี้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับกับงานที่มีแฟนเพลงมากกว่า 6-7 หมื่นคน แต่ทุกคนก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการคัดแยกและทิ้งขยะตามจุดที่ได้จัดเตรียมไว้รอบพื้นที่จัดงาน ทุกคนตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจีเอ็มเอ็มโชว์ ภายใต้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มุ่งมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนแคมเปญดีๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อม” นายยุทธนากล่าวทิ้งท้าย  

The Geen บริษัทสื่อสารและจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการขยะภายใต้แคมเปญ “มันส์ ไม่ ทิ้ง” ระบุว่าภายในงานมีการระดมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกว่า 200 คน ประจำอยู่ตามจุดคัดแยกและทิ้งขยะ 50 จุด จัดการขยะ 4 ประเภท ประกอบด้วย ขวดพลาสติก PET กระป๋องอะลูมิเนียม ขยะเศษอาหาร และขยะทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ของ The Geen จะให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้การจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก

1-photo-for-post-pr-scoop_was

ตลอดทั้งสองวันของการจัดงาน มีปริมาณขวดพลาสติก PET ใช้แล้ว 1,795 กิโลกรัม กระป๋องอะลูมิเนียม 1,075 กิโลกรัม ขยะเศษอาหาร 705 กิโลกรัม และขยะทั่วไปอีก 1,460 กิโลกรัม โดยขยะแต่ละประเภทถูกคัดแยกและรวบรวมไปยังจุดพักขยะ ก่อนนำส่งไปยังปลายทางเพื่อรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป 

สรุปการคัดแยกขยะตามประเภทและปลายทางการนำไปใช้ประโยชน์

  • ขวดพลาสติก PET ถูกส่งไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่โรงงานเอ็นวิคโค
  • กระป๋องอะลูมิเนียม ถูกส่งไปที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด
  • ขยะเศษอาหาร ถูกแปลงเป็นปุ๋ย ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ของเทศบาลนครนครราชสีมา
  • ขยะทั่วไป ถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) โดย บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม