ไขคำตอบ พระสงฆ์ 1,250 รูป ได้ยินเสียง พระพุทธเจ้า ได้ไง ยุคนั้นไม่มีไมโครโฟน?

17 ธ.ค. 66

อาจารย์เจ้าของเพจดัง คำนวณหลักการได้ยินของพระสงฆ์ 1,250 รูป ได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ยุคนั้นไม่มีไมโครโฟน

จากกรณี อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต ได้ให้สัมภาษณ์กับ อมรินทร์ทีวี โดยในช่วงหนึ่งอ้างถึงการที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ว่ามีการเชื่อมจิต คือการสอนในสมาธิ ในยุคนั้นไม่มีไมโครโฟน คนมาฟังเป็นร้อยเป็นพันคน ถ้าไม่สอนในจิตจะได้ยินได้อย่างไร ประเด็นดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง

ล่าสุด เพจฯ Boomrhino ของ บูม พีรพล การุณวิวัธน์ ดีไซเนอร์ และเป็นที่รู้จักในนามของครูสอนโปรแกรมสามมิติที่ใช้ในงานออกแบบเช่น Rhino Grasshopper และ 3ds Max ได้ออกมาคำนวณถึงหลักการได้ยินของพระสงฆ์ 1,250 รูป จะได้ยินสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนได้อย่างไร

โดยทางเพจฯ ได้ระบุว่า “มีนักเรียนถามถึงวิธีการใช้ Grasshopper เพื่อคำนวณความดังของเสียงที่พระสงฆ์ 1,250 รูปได้ยินจากพระพุทธเจ้า ซึ่งความดังของเสียงมนุษย์ปกติอยู่ที่ประมาณ 60 ถึง 70 เดซิเบล (dB)”

เบื้องต้น สูตรคำนวณความดังของเสียงจากแหล่งกำเนิดถึงผู้ฟังที่ระยะต่างๆ สูตรเป็นดังนี้:

L2 = L1 – (20 * log10(r2/r1))

โดยที่:
L2 = ความดังที่ตำแหน่งผู้ฟัง
L1 = ความดังที่แหล่งกำเนิด
r2 = ระยะทางจากแหล่งกำเนิด ถึงผู้ฟัง
r1 = ระยะห่างอ้างอิง (โดยทั่วไปคือ 1 เมตร)

เมื่อใช้ Grasshopper จัดการนั่งของพระสงฆ์ให้แผ่ออกเป็นวงกลมโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางและทำการแบ่ง space การนั่งเป็นรูปแบบ organic โดยมีพื้นที่เฉลี่ยต่อคน 0.84 ตารางเมตร ซึ่งเป็นการนั่งแบบไม่เบียดแน่นกันจนเกินไป

ผลลัพธ์ที่ได้คือ
พระสงฆ์ที่นั่งห่างจากพระพุทธเจ้ามากที่สุดจะอยู่ที่ระยะ 18 เมตร ซึ่งจะได้ยินเสียงที่ 24.97 ถึง 34.97 เดซิเบล นับว่าเป็นระดับเสียงที่สามารถได้ยินได้โดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟน

นอกจากนี้ ทางเพจยังเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ขออนุญาตตอบคำถามสองข้อที่มีคนส่งข้อความมาถามค่อนข้างมาก และต้องยอมรับว่าในหลายขั้นตอนไม่ใช่เรื่องที่อธิบายได้ง่ายนัก”

คำถามคือ
1.รู้ได้อย่างไรว่าพระนั่งล้อมเป็นวงกลมสมบูรณ์
2.พระที่นั่งอยู่ข้างหลังพระพุทธเจ้าจะยังสามารถได้ยินเสียงของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่

คำชี้แจ้งคือ
1. เราไม่ได้ยึดติดในความเป็นไปได้ในรูปแบบผังการนั่งของพระสงฆ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เราจะใช้ชุดอัลกอริทึมที่เรียกว่า "Form-Finding" เพื่อมองหาทุกความเป็นได้

รายละเอียดของอัลกอริทึมชุดนี้ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ คือ

1.1 parametric modeling ในส่วนนี้จะสามารถผลิตความเป็นไปได้ของลักษณะผังการนั่งนับไม่ถ้วนรูปแบบ
1.2 เงื่อนไขที่บังคับว่าไม่ว่ารูปแบบใด ๆทุกที่นั่งของพระสงฆ์จะต้องได้ยินเสียงอย่างหน่อย 10 เดซิเบล

2. สูตรสมบูรณ์ที่เขียนมานั้น มีการคำนวณลักษณะการกระจายของเสียงในทิศทางต่าง ๆเรียบร้อย ซึ่งทำให้เราทราบได้ว่า คนที่นั่งอยู่หลังพระพุทธเจ้านั้นได้ยินเสียงเบาลงมาก แต่ผลคำนวณนั้นไม่มีผู้ใดได้ยินเสียงต่ำกว่า 10 dB ซึ่งก็แปลว่าทุกคนยังสามารถได้ยินเสียงได้อยู่นั่นเอง

ปัญหาหลักที่เจอคือ ถึงแม้การคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์นั้นจะรวดเร็วมาก โดยเราสามารถมองเห็นความเป็นไปได้นับพันรูปแบบที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่รูปแบบการแสดงผลนั้นจะเป็นเพียงจุดกับตัวเลขซึ่งอาจจะอ่านได้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญ จึงนำมาสู่ขั้นตอนต่อไปที่กินทรัพยากรของคอมพิวเตอร์มากพอสมควรนั่นก็คือ การจำลองเพื่อการสื่อสาร ซึ่งจะต้องทำการจัดเรียงโมเดลพระที่มีลักษณะเป็น low poly มาวางตำแหน่งการนั่งจริงเพื่อวิเคราะห์เรื่องความสบายในการนั่ง และทำให้สื่อสารได้ง่าย

ผลจากขั้นตอนนี้ทำให้การแสดงผลวิเคราะห์ในบางขั้นตอนถูกปรับใช้เป็นแบบอย่างง่ายเพื่อให้การคำนวณไม่หนักหน่วงเกินไป อย่างไรก็ตามตอนนี้ได้นำเอาแบบที่จำลองด้วยสูตรสมบูรณ์มาให้ดูเป็นตัวอย่าง 6 แบบเรียบร้อยตามภาพด้านล่าง

ปล. ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมนั้น จะมีงานออกแบบที่ต้องมีการคำนวณที่ว่าด้วยเรื่อง acoustic อยู่ไม่น้อย ซึ่งการคำนวณนั้นถือว่าซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก เราต้องคำนึงถึงทุกตัวแปร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสะท้อนเสียง การซับเสียง วัสดุต่าง หรือปัจจัยอื่น ๆอีกมาก โดยมีตัวอย่างการใช้ Grasshopper เพื่อคำนวณให้เห็นมามากมาย

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส