องคมนตรี คือใคร ความเป็นมาขององคมนตร จะต้องมีสมาชิกกี่คน

29 พ.ย. 66

คณะองคมนตรี หรือ คณะที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ไทย พร้อมประวัติความเป็นมาของ องคมนตรี

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งองคมนตรี โดยมีเนื้อหาดังนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า 

ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรีตามประกาศ ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2565 แล้วนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

องคมนตรีคือใคร มีหน้าที่อะไร 

คณะองคมนตรี หมายถึงคณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

คณะองคมนตรี  หรือ privy council ในภาษาอังกฤษ คำว่า "privy" หมายถึง "ส่วนตัว" หรือ "ลับ" ดังนั้นแรกเริ่มเดิมที privy council คือคณะที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดที่สุดของกษัตริย์ที่ให้คำปรึกษาที่รักษาเป็นความลับในเรื่องกิจการรัฐ

ประเทศที่มีสภาองคมนตรีหรือองค์กรเทียบเท่าในปัจจุบัน ได้แก่ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ประเทศแคนาดา ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ราชอาณาจักรตองกา และราชอาณาจักรไทย

 

ความเป็นมาของ "องคมนตรี"

คำว่า "องคมนตรี" ในภาษาไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) จำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 (ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2437 ได้ยกเลิกไปและจัดตั้ง รัฐมนตรีสภา ขึ้นแทน) และปรีวีเคาน์ซิล (Privy council) หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ จำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น องคมนตรีสภา)

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งองคมนตรี จำนวน 40 คน ตั้งเป็น สภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ขึ้นใหม่ทุกปีในวันที่ 4 เมษายน เนื่องในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อสิ้นรัชสมัยจึงมีองคมนตรีมากถึง 233 คน

ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็น 3 องค์กร คือ อภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีสภา และสภากรรมการองคมนตรี โดยอภิรัฐมนตรีสภาก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เทียบเท่าได้กับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จำนวน 5 พระองค์ ซึ่งทรงเคยรับราชการตำแหน่งสำคัญในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย

  • จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
  • จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  • พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
  • มหาอำมาตย์เอก นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • มหาอำมาตย์เอก นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระยะแรกคณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา และพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 และว่างเว้นมาเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 จึงมีบทบัญญัติคล้ายคลึงกันโดยกำหนดให้มี "คณะอภิรัฐมนตรี" ทำหน้าที่นี้ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะองคมนตรี" ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และใช้มาตราบจนถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่าเป็นคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คนมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา รวมทั้งปฏิบัติภารกิจตามที่พระมหากษัตริย์ทรงกำหนดหรือทรงมอบหมาย การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรี หรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรี หรือให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

องคมนตรีเป็นข้าราชการในพระองค์ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ข้าราชการในพระองค์ตำแหน่งอื่นนอกจากองคมนตรี พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง

ข้อมูลจาก : wikipedia , สถาบันพระปกเกล้า 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส