รู้จัก "มาลาลา ยูซาฟไซ" ผู้หญิงที่ "แอนโทเนีย" อยากเป็น และกล่าวยกย่องในรอบตอบคำถาม Miss Universe 2023

19 พ.ย. 66

รู้จัก "มาลาลา ยูซาฟไซ" ผู้หญิงที่ "แอนโทเนีย โพซิ้ว" อยากเป็น และกล่าวยกย่องในการตอบคำถาม รอบ 3 คนสุดท้าย บนเวที Miss Universe 2023

มาลาลา ยูซาฟไซ คือใคร หญิงชาวปากีสถาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่อายุน้อยที่สุดในโลก ผู้ที่มีจุดยืนว่า "ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเรียนหนังสือ" และเคยถูกกลุ่มตาลีบันยิงศีรษะ ลอบสังหารมาแล้วจากการเรียกร้องความเท่าเทียมของเธอ

มาลาลา ยูซาฟไซ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 เธอเป็นเพียงเด็กนักเรียนจากเมืองมินโกรา ในเขตสวัด (Swat District) แคว้นแคบาร์ปัคตูนควา ประเทศปากีสถาน เธอเป็นที่รู้จักในการศึกษาและการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีของเธอในหุบเขาสวัด ซึ่ง ตาลีบัน บางครั้งห้ามเด็กหญิงไม่ให้เข้าศึกษาในโรงเรียน

ต่อมาในปี 2552 มาลาลา ยูซาฟไซ ขณะอายุได้ 11 ปี เป็นที่รู้จักผ่านบล็อกที่เธอเขียนให้แก่ บีบีซี โดยรายละเอียดกล่าวถึงชีวิตของเธอภายใต้ระบอบตาลีบัน ความพยายามของตาลีบันในการเข้าควบคุมหุบเขา และมุมมองของเธอต่อการสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กหญิง

ฤดูร้อนปีต่อมา มีการถ่ายทำสารคดีของนิวยอร์กไทมส์เกี่ยวกับชีวิตของเธอขณะที่กองทัพปากีสถานเข้าแทรกแซงในภูมิภาค มาลาลา ยูซาฟไซ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ให้สัมภาษณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์และทางโทรทัศน์ และรับตำแหน่งประธานสภาเด็กเขตสวัด (District Child Assembly Swat) นับแต่นั้น เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสันติภาพเด็กระหว่างประเทศโดยเดสมอนด์ ตูตู และได้รับรางวัลสันติภาพเยาวชนแห่งชาติเป็นคนแรกของปากีสถาน

วันที่ 9 ตุลาคม 2555 มาลาลา ยูซาฟไซ ถูกยิงที่ศีรษะและคอ เป็นการลอบสังหารโดยมือปืนกลุ่มตาลีบันขณะที่เธอกำลังกลับบ้านบนรถโดยสารประจำทางโรงเรียน หลายวันหลังจากนั้น เธอยังหมดสติและอยู่ในภาวะวิกฤต และจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม เธอถูกส่งตัวไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อเข้ารับการรักษา

ในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 มูลนิธิโนเบลได้ประกาศให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับไกลาศ สัตยาธี จากการต่อสู้ของเด็กเพื่อความถูกต้องของการศึกษาในเด็กทั้งหมด ถือเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น

ปัจจุบัน มาลาลา ยูซาฟไซ อายุ 26 ปี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเมื่อปี 2020 เธอยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อผู้หญิง ตามแนวคิดที่เป็นมาโดยเสมอว่า ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเรียนหนังสือ

มาลาลา ยูซาฟไซ

ข้อมูล : wikipedia.org / แอมนาสตี้ 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ