ชาวนา บ่น เศรษฐา ทำงานช้ากว่า ลุงตู่ วอนลดกติการการช่วยเหลือ

9 พ.ย. 66

ชาวนาบ่น "เศรษฐา" ทำงานช้า ตอนสมัย " ลุงตู่ " จ่ายเงินมาแล้ว พร้อมขอให้ลดกติกาบางอย่างลง เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือง่ายขึ้น

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 พ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเกษตรกรในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ภายหลังจากที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกเพื่อช่วยเหลือชาวนาในการดูดซับปริมาณข้าวออกจากตลาด แบ่งเป็นสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่มวงเงิน 55,038.96 ล้านบาท   โดยเฉพาะที่บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ต่างระบุว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำงานช้ามาก ไม่เหมือนลุงตู่ที่หากเป็นระยะนี้จ่ายเงินมาให้แล้ว

นายวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง อายุ 57 ปี ชาวบ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่ารัฐบาลเข้ามาบริหารงานได้ 3 เดือน ในเรื่องการช่วยเหลือชาวนาตอนแรกคิดว่ารัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งมาจากประชาธิปไตย สุดท้ายคิดว่าสู้รัฐบาลที่มาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ไม่ได้ถ้าเปรียบเทียบกับหลาย ๆ โครงการยังห่างไกลกันเยอะ เพราะหลายโครงการเกี่ยวกับเกษตรกรยังไม่มีความชัดเจน

โดยในปีที่แล้ว รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มจ่ายค่าเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือน ต.ค. อยากบอกรัฐบาลชุดนี้ว่าต้องปรับปรุงใหม่เพราะว่าเกษตรกรเดือดร้อนมาก ตอนนี้นโยบายต่าง ๆ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ตอนไหน หรือว่าจะได้เท่าไร่แบบไหนบ้าง ตอนนี้เกษตรกรเดือดร้อนเรื่องการเก็บเกี่ยว ค่าเกี่ยวข้าว ย้ำตอนแรกยังมีความหวังจากทางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายยังทำงานช้ากว่ารัฐบาลลุงตู่

นายวิรัตน์กล่าวต่ออีกว่านโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาดีมากแต่เกษตรกรเข้าไม่ถึงเพราะว่ากติกาเยอะก่อนหน้านี้ จะมีการวัดยุ้งฉางแต่ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยน เกษตรกรเปลี่ยนไปหันมาบรรจุกระสอบแทนจะนำไปวางไว้ในบ้าน แต่พอบอกว่าชาวนาจะบรรจุกระสอบเก็บไว้ในบ้าน ก็ไม่อนุมัติให้ถือว่าไม่เข้ากติกา

"การช่วยเหลือจากทางรัฐบาลถือว่าดีแต่ขอลดกติกาบางอย่างลง ให้หันมาเข้าใจเกษตรกรมากขึ้นเอาเกษตรกรเป็นตัวตั้ง อย่าเอาหลักเกณฑ์ที่เคร่งครัดเกินไปมาใช้ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ถึงจะมีโครงการรัฐบาลมาช่วย ยังไงก็กระทบเหมือนเดิม เพราะว่าเวลาข้าวขึ้นราคา ข้าวจะตกอยู่ในมือพ่อค้ารับซื้อหมดแล้ว เพราะเกษตรต้องรีบนำข้าวไปขายใช้หนี้ เพราะประมาณ เดือนมี.ค.-เม.ย.เกษตรกรต้องรีบขายข้าวใช้หนี้ ธกส. แต่พอเลยเดือน เม.ย.ไปข้าวมีราคาแต่ไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรแล้ว”

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม