แม่ค้าแฉ ศึกห้ามจับปูถูกลูกค้าด่าก่อน ของขึ้นสวนกลับปากหมา - ทนายแนะทางออก (คลิป)

26 ก.ค. 60
กรณีที่มีการแชร์ภาพแม่ค้าขายปูม้าในตลาดสดแห่งหนึ่ง ติดป้ายประกาศห้ามจับปูหากไม่ได้ซื้อสิน โดยในคลิปได้ปรากฏภาพแม่ค้ากำลังมีปากเสียงกับลูกค้ารายหนึ่ง เนื่องจากลูกค้าได้มีการทวงสิทธิจับสินค้าก่อนซื้อ ซึ่งคลิปดังกล่าวกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ในขณะนี้
ภาพจากคลิปที่แชร์บนโลกออนไลน์
ล่าสุด วันนี้ (25 ก.ค. 60) นางณาตญา จำรัสฉาย หรือ คุณตอง อายุ 35 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้โพสต์คลิปดังกล่าว เล่าว่า วันเกิดเหตุตนได้เดินผ่านร้านของคุณป้าคู่กรณี และได้พูดคุยกันว่าเดี๋ยวจะเดินกลับมาซื้อปูไปทำกับข้าวที่บ้าน โดยไม่รู้ว่าหลานยื่นมือไปจับที่กระดองปูแล้ว
นางณาตญา จำรัสฉาย คนถ่ายคลิป
คุณตองยอมรับว่าไม่ทันสังเกตป้ายห้ามจับที่ติดไว้ และพอรู้ว่าหลานเอามือไปจับกระดองปูก็รู้ว่าผิด จึงได้ตักเตือนหลาน ก่อนจะเดินออกมาจากร้านและพูดคุยกันในกลุ่มญาติๆ ว่า ลูกค้าทำไมไม่มีสิทธิจับดูสินค้าก่อนซื้อ ก่อนที่คุณป้าเจ้าของร้านจะตะโกนด่ากลับมาว่า “ปากหมา” จึงเป็นชนวนให้คุณตองเกิดการโต้เถียงกับคุณป้า และใช้คำพูดที่รุนแรงไม่เหมาะสม โดยยอมรับว่าเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ หลังจากลงคลิปได้เพียงวันเดียว คุณตองก็ตัดสินใจลบคลิปออกจากเฟซบุ๊ก เพราะโดนกระแสโซเชียลโจมตีว่าเป็นคนไปหาเรื่องคุณป้าเจ้าของร้านก่อน ซึ่งคุณตองยืนยันว่าไม่ได้หาเรื่อง และรู้ว่าหลานทำผิดที่ไปจับสินค้า ยืนยันด้วยว่าตอนนี้ก็ไม่โกรธคุณป้าหรือชาวโซเชียลที่วิพากษ์วิจารณ์ตน ทั้งนี้ตนไม่ได้อยากทำลายชื่อเสียงของตลาด หรือแม่ค้า ส่วนตัวก็ยังจะเดินทางไปอุดหนุนสินค้าที่ตลาดเหมือนเดิม
นางตติยา คำสอน แม่ค้าขายปู
ด้านนางตติยา คำสอน หรือ ป้าต้อย อายุ 52 ปี แม่ค้าขายปูตามที่ปรากฎในคลิป ยอมรับว่าเห็นคลิปที่แชร์แล้ว ส่วนตัวไม่ได้กังวลอะไร ตอนนี้ก็ค้าขายได้ตามปกติ เพราะมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว วันเกิดเหตุคุณป้ายืนยันว่าอีกฝ่ายพูดจาไม่ดีด้วยก่อน จึงเกิดการทะเลาะกัน ป้าต้อยบอกอีกว่า ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีก็ติดป้ายห้ามจับสินค้าแบบนี้มาตลอด ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้จับนั้น เพราะปูมีราคาแพง มีการจัดเรียงไว้อย่างดี บางครั้งพอลูกค้าจับเล่นแล้ว ปูตกหล่นเสียหาย ขายไม่ได้ราคา ทั้งก็ยังเคยมีบางคนโดนปูหนีบนิ้ว เป็นแผลมาแล้ว คุณป้าก็ต้องมาจ่ายค่าทำแผลให้อีก
นายนิติธร แก้วโต ทนายความ
นายนิติธร แก้วโต ทนายความ เปิดเผยว่า ในทางกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ค้าติดป้ายแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจนเท่านั้น ส่วนการติดป้ายอื่น ๆ ที่เป็นเงื่อนไขในการขายสินค้า เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ เช่น การติดป้ายห้ามแตะสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงในการซื้อขาย โดยหากผู้ซื้อฝ่าฝืนข้อตกลง ใช้มือแตะสินค้าแล้วเกิดความเสียหาย เช่น ปูตกจนกระดองแตก ผู้ค้ามีสิทธิ์เอาผิดทางแพ่ง คือเรียกร้องค่าเสียหาย หรือให้ผู้ซื้อรับซื้อสินค้าดังกล่าว หากตกลงกันไม่ได้ ผู้ค้าสามารถดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายได้ ทั้งนี้นายนิติธร ได้แนะนำด้วยว่า หากผู้ซื้อไม่พอใจที่มีการติดป้ายลักษณะดังกล่าว ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ซื้อและเลือกซื้อสินค้าร้านอื่นแทนได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ