รวบนักต้มตุ๋น อ้างเป็นสำนักพระราชวัง ลวงเหยื่อเสียหายเกือบล้าน

13 ต.ค. 66

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบหนุ่มแสบนักต้มตุ๋น แอบอ้างสำนักพระราชวัง ลวงเหยื่อกว่า 15 รายทั่วประเทศ ความเสียหายเกือบล้าน

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จับกุม นายจุฬาธิปก อายุ 29 ปี สัญชาติไทย เพื่อดำเนินคดีในข้อหา “ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม, โดยทุจริตหรือโดยการหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1692/2566 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566

พร้อมด้วยของกลาง จำนวน 5 รายการ 1. โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Samsung note 20 ultra 5G  จำนวน 1 เครื่อง 2. โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Oppo จำนวน 1 เครื่อง 3. นาฬิกายี่ห้อ Samsung galaxy watch 3 จำนวน 1 เครื่อง 4. กระเป๋าสตางค์ ลาย Supreme สีแดง จำนวน 1 ใบ 5. บัตรบริการเงินด่วน ธนาคารกสิกรไทย จำนวน 1 ใบ  โดยจับกุมได้ที่บริเวณฝ่ายพิธีการเข้าเมือง ชั้น 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ  

โดยมีผู้เสียหายจำนวนหลายรายถูกหลอกลวงโดยคนร้ายซึ่งปกปิดตัวตน แอบอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง โดยมีการใช้ไลน์ชื่อ "ฬ.จุฬา", "สำนักพระราชวัง", "wannachai apaiwongse" , "ศ.สถิตย์" , "กรมกิจการพิเศษ ๙๐๔" และ "Chakrabongse ๑๙๐๔" หลอกลวงผู้เสียหายที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้า โดยอ้างว่าจะพา VVIP ไปใช้บริการที่ร้าน แล้วเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าฉายพระรูป, ค่าเข็มที่ระลึก ฯลฯ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้คนร้ายจำนวนหลายราย จากการตรวจสอบช่วงระหว่างวันที่ 23 มกราคม 2564 - 4 กรกฎาคม 2566 พบผู้เสียหายกว่า 15 ราย และมีผู้เสียหายที่หลงเชื่อจำนวน 9 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 908,949.01 บาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงนำข้อมูลแผนประทุษกรรมคดีก่อนหน้าที่มีลักษณะคล้ายกันมาทำการวิเคราะห์จนสามารถระบุได้ว่าตัวคนร้ายผู้กระทำความผิดดังกล่าว คือ นายจุฬาธิปก จากการสืบสวนพบว่า นายจุฬาธิปก ได้หลบหนีไปประเทศเมียนมา  จึงได้ดำเนินการประสานงานเพื่อสืบสวนติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้รับการประสานจากทางประเทศเมียนมา ผ่านทางเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศเมียนมาได้พบตัว นายจุฬาธิปก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านายจุฬาธิปก เป็นผู้ต้องหาของตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1692/2566 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2566 และจะได้ทำการส่งตัวนายจุฬาธิปก กลับมายังประเทศไทยเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2566 เวลาประมาณ 09.25 น. ชุดจับกุมได้รับการประสานว่านายจุฬาธิปก จะเดินทางจากประเทศเมียนมามายังประเทศไทย จึงได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดไปตรวจสอบ จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.30 น. พบบุคคลต้องสงสัยลักษณะรูปพรรณสัณฐานตรงตามหมายจับ อยู่บริเวณฝ่ายพิธีการเข้าเมือง ชั้น 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชุดจับกุมจึงได้แสดงตัว พร้อมแสดงหมายจับให้ผู้ต้องหาดูและให้อ่านเองจนเป็นที่พอใจ จากการสอบถามผู้ถูกจับยอมรับว่าตนเองเป็นบุคคลคนเดียวกันตามหมายจับจริงจึงได้ทำการจับกุมแล้วนำตัวส่ง พงส.กก.2 บก.ป. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหายังมีหมายจับในคดีอื่นอีกจำนวน 3 หมายจับ ดังนี้

1.หมายจับศาลจังหวัดเชียงราย ที่ 337/2565 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกง โดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น,ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยการหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง" ท้องที่ สภ.เมืองเชียงราย

2.หมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 846/2564 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "นำเข้าสู่ระบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น“ ท้องที่ สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่

3. หมายจับศาลอาญา ที่ 2952/2566 ลงวันที่ 8 กันยายน 2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และโดยโดยทุจริต หรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนขอให้ระมัดวัง อย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างเป็นสำนักพระราชวัง หรือหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ซึ่งจะมีการหลอกให้โอนเงินค่าดำเนินการ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนจะทำธุรกรรมทางการเงิน หรือดำเนินการใด ๆ ก่อนทุกครั้ง

โดยในการจับกุมครั้งนี้นำโดย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) ภายใต้
การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ศราวุธ จันต๊ะวงค์ ผกก.2 บก.ป., ว่าที่ พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป., พ.ต.ท.นฤทธิ์ ผูกจิตร, พ.ต.ท.นพรัตน์ คำมาก, พ.ต.ท.เนติวิทย์ ธนาสิทธิ์นิติกุล, พ.ต.ท.พลวุฒิ ผาตินุวัติ รอง ผกก.2 บก.ป.

และมีเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม บก.ป. นำโดย พ.ต.ท.อรรถวิทย์ สุขทัศน์ รอง ผกก.4 บก.ป.,
พ.ต.ต.อัครวุฒิ จันทร์เจริญ สว.กก.2 บก.ป., ร.ต.อ.กรัณย์พล สิงห์ศรี, ร.ต.อ.สหรัฐ ยิ่งยวด รอง สว.กก.2 บก.ป., ร.ต.ต.ถาวร โสรินทร์ รอง สว.(ป) กก.2 บก.ป., ด.ต.มานะ ชำนาญกิจ, ด.ต.อภัย แสนบุดดา และ ด.ต.ราเมศ เอมสมุท ผบ.หมู่ กก.2 บก.ป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.ปป.บก.ตม.2 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส