บุกค้นคลินิกเสริมความงามใช้เครื่องสำอางฉีดแทนยา

22 ก.ย. 66

ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย.และ สบส.บุกค้นคลินิกเสริมความงามใช้เครื่องสำอางฉีดแทนยา พบยาไม่มีทะเบียน-เครื่องสำอางไม่มี อย.เกือบพันชิ้น

วันที่ 22 กันยายน 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง , กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกันแถลงผลการตรวจค้น 4 คลินิกเสริมความงามที่ใช้เครื่องสำอางฉีดแทนยา , ยาไม่มีทะเบียน และเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้องรวมกว่า 943 ชิ้น

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจพบการโฆษณาเครื่องสำอางที่บรรจุในภาชนะบรรจุรูปแบบแอมพูล ไวแอล มีการนำไปใช้ผิดวิธี ผิดวัตถุประสงค์ในคลินิกเสริมความงาม โดยอวดอ้างสรรพคุณ ในการบำรุงรักษา, ฟื้นฟูสภาพผิว, ลดฝ้า กระ จุดด้างดำ และริ้วรอย, กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว ฯลฯ อันมีลักษณะการใช้เช่นเดียวกับยารักษาโรค ซึ่งหากฉีดเข้าสู่ร่างกายและเข้าสู่กระแสเลือด อาจมีอันตรายต่อร่างกาย

เครื่องสำอางดังกล่าวไม่ได้ผ่านการรับรองการฆ่าเชื้อ และผลิตในเชิงการแพทย์ อีกทั้งไม่พบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานแพทย์ของรัฐ จึงประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ สบส.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.เข้าร่วมตรวจสอบคลินิกเสริมความงามที่เข้าข่ายกระทำความผิด


ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ อย., เจ้าหน้าที่ สบส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. เข้าร่วมตรวจสอบสถานพยาบาลคลินิกเสริมความงาม 4 แห่ง ในพื้นที่เขตสวนหลวง,เขตบึงกุ่ม, เขตดุสิต และเขตวังทองหลาง

จากการสอบสวนปากคำแพทย์และผู้ช่วยพยาบาล ทั้ง 4 คลินิกให้การว่าเครื่องสำอางของกลางที่ตรวจยึด เป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งเลข อย.ประเภทเครื่องสำอางสำหรับทาผิว ผิวหน้า โดยไม่ต้องล้างออก แต่ลักษณะขวดผลิตภัณฑ์บรรจุในภาชนะบรรจุรูปแบบไวแอล มีลักษณะขวดแก้วใส มีฝาจุกยาง ปิดฝาขวดด้วยอลูมิเนียม คล้ายขวดยาสำหรับฉีด โดยอ้างว่ามีคุณสมบัติในการบำรุงรักษา, ฟื้นฟูสภาพผิว, ลดฝ้า กระจุดด่างดำ และริ้วรอย, กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว ฯลฯ อันมีลักษณะผิดวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางที่จดแจ้งไว้ และพบว่ามียาที่ไม่มีทะเบียน เครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจสอบ
ใบประวัติการรักษาของผู้เข้ารับบริการพบว่า มีการตรวจรับรักษาด้วยการฉีดเครื่องสำอางที่ตรวจยึดจริง


โดยของกลางที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด 943 ชิ้น เป็นเครื่องสำอางที่นำมาฉีดกว่า 779 ชิ้น, ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยากว่า 109 ชิ้น และเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง 55 ชิ้น ของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

หากพบว่ามีคลินิกเสริมความงามทั้ง 4 แห่งกระทำความผิดจริง ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
1. ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนมาตรา 72 (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558
1. ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความสื่อถึงการนำไปฉีดเข้าสู่ผิวหนัง เข้าข่ายเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือขาย ฝ่าฝืน ม.6(1) ประกอบ ม.27(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง (solution for injection) ฝ่าฝืน ม.32 (3) ประกอบ ม.22 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความอันเป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วน ฝ่าฝืน ม.32 (4) ประกอบ
ม.22 วรรคสอง (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาและซักถามคลินิกที่เข้ารับบริการว่า ยาและเครื่องสำอางที่ทางคลินิกใช้รักษา มีการขึ้นทะเบียนตำรับยา และเครื่องสำอางได้จดแจ้งกับทาง อย. ถูกต้องหรือไม่ ในส่วนของคลินิกเสริมความงามและแพทย์ที่นำเครื่องสำอางมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายผู้รับบริการ อาจเสี่ยงทำให้ชีวิตร่างกายของผู้รับบริการเสียชีวิต หรือเกิดอาการเจ็บป่วย อันมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา จึงขอเตือนว่าไม่ควรนำเครื่องสำอางมาฉีดรักษาให้บริการโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนที่พบเห็นการโฆษณาใช้เครื่องสำอางมาฉีดรักษา หรือการโฆษณาเกินจริง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค


เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผลร่วมตรวจสอบคลินิกที่โฆษณาและรีวิวในเว็บไซต์มีการนำเครื่องสำอางในขวดรูปแบบยาฉีด (แอมพูล/ไวแอล) ฉีดเข้าร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ในการผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังเพื่อความสวยงาม โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่าน อย. แล้ว
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางจะไม่มีการประเมินความปลอดภัยจากการใช้กรณีนำไปฉีดหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากเครื่องสำอางจะใช้ทาภายนอก ดังนั้นหากนำเครื่องสำอางไปใช้ผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้

ทั้งนี้ อย.ได้มีการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่พบว่ามีการนำไปใช้ฉีดแล้วจำนวน 3 ฉบับและมีการดำเนินคดีผู้โฆษณาจำนวน 12 ราย

จึงขอเตือนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล ให้ตรวจสอบฉลากและพิจารณาการใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแอมพูล/ไวแอลอย่างละเอียด โดยเฉพาะที่มีการกล่าวอ้างว่า “ผ่าน อย. แล้ว” เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มีหลายประเภทตามระดับความเสี่ยง กรณีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายจัดว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือเครื่องมือแพทย์เท่านั้น.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส