"นางอรพิม" เป็นใคร? เปิดตำนานรักท้าวปาจิต-นางอรพิม

16 ส.ค. 66

"นางอรพิม" คือใคร? เปิดตำนานรักลำน้ำมาศ "ท้าวปาจิต-นางอรพิม" ที่รู้จักอย่างแพร่หลายในภาคอีสาน

ตำนานรักจิตตราชกุมาร-นางอรพิม

กล่าวถึงกษัตริย์พระยาอินทะปะถะนครพระองค์หนึ่ง กับมเหสีชื่อ นางจันทาเทวี มีราชโอรสชื่อ จิตตราชกุมาร เมื่ออายุได้ 16 พรรษา พระราชบิดาจะจัดการอภิเษกให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ ถึงจะหาราชธิดาเมืองใดมาให้เลือก พระราชโอรสก็ไม่ต้องพระประสงค์ โหรหลวงทำนายว่า เนื้อคู่ของพระองค์ยังอยู่ในครรภ์ของหญิงแม่นา ให้ท้าวจิตตราชกุมารเดินทางไปทิศตะวันออกแล้วจะพบหญิงแม่นาผู้นั้น โดยมีลักษณะที่สังเกตได้คือแสงอาทิตย์จะทรงกลดเป็นเงากั้นเบื้องบนศีรษะ

 

ออกตามหานางอรพิม

ท้าวจิตตราชกุมารออกเดินทางหาจนไปพบแม่นา ซึ่งเป็นภริยาของนายบ้านแห่งหนึ่ง ยังมีครรภ์อยู่มีลักษณะตามที่โหรได้ทายไว้ จึงอาสาฝากตัวเป็นคนใช้ ครั้นนางคลอดบุตรเป็นหญิงมีลักษณะดีก็ช่วยนางเลี้ยงดูจนเป็นสาว ให้ชื่อว่า นางอรพิม รูปโฉมงดงามมาก ได้ 16 ปี นายบ้านผู้เป็นพ่อและแม่แห่งนางก็จิงอุสสาราชภิเษก ยังนางอรพิมให้แก่เจ้าจิตตราชกุมารวันนั้นแล ท้าวจิตตราชกุมารจึงขอลากลับบ้านเมืองเพื่อจัดขันหมากมาสู่ขอตามประเพณี

 

จัดขันหมากมาสู่ขอ

พอได้ขันหมาก และเดินทางมาถึงบ้านนายบ้านจึงได้ทราบว่า พระยาจิกขาราชแห่งเมืองจำปานคร มาแย่งตัวนางอรพิมไปเสียแล้ว จิตตราชกุมารก็เสียพระทัยเลยโยนขันหมากทิ้งน้ำเสียหมด ท้าวจิตตราชกุมารจึงแฝงกายเข้าไปในปราสาทพระยาจิกขาราชและได้ทำอุบายฆ่าพระยาจิกขาราชเสียแต่ก็ลังเล จนนางอรพิม จัดการมอมเหล้าแล้วใช้มีดเชือดคอพระยาจิกขาราชสิ้นพระชนม์

 

ชุบชีวิตจิตตราชกุมาร

จิตตราชกุมารกับนางอรพิมหลบหนีออกมาจากปราสาท จนถึงยังเค้าไม้ไทรต้นใหญ่แห่งหนึ่ง ตนและนางอรพิมเมียรักก็ขึ้นนอนอยู่บนเหนือกิ่งไม้ไทรร่วมกัน ขณะนั้นมีพรานป่ามาหาล่าเนื้อได้เห็นทั้งสองเข้าจึงเกิดความอยากได้นางอรพิม นายพรานยิงหน้าไม้ใส่ท้าวจิตตราชกุมารตกลงมาจากต้นไทรตาย พรานจับนางอรพิมขี่ควายหนีไปจากป่า แต่แล้วนางอรพิมจึงใช้มีดปาดคอพรานเสีย และกลับมาชุบชีวิตท้าวจิตตราชกุมารด้วยยาวิเศษจากต้นไม้อันพญาอินทรานิรมิตตนลงมากับวิสุกัม เทวบุตรเป็นพังพอนแลงูเห่ากัดตอดกันผลัดกันตายผลัดกันฟื้นเพราะแทะเปลือกยาใส่ปากกัน

 

พลัดพรากกันนานแสนนาน

ซึ่งนางพบในระหว่างเดินทางมาหาศพจิตตราชกุมาร จากนั้นทั้งสองได้เดินทางต่อ จนถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งได้อาศัยเรือเณรส่งข้ามฟากให้ เณรหลงรักนางอรพิมจึงทำอุบายลวงท้าวจิตตราชกุมารให้ขึ้นฝั่งก่อนแล้วพานางอรพิมหนีไป นางอรพิมลวงให้เณรขึ้นต้นมะเดื่อแล้วเอาหนามมาสะสุมไว้โคนต้น จากนั้นก็พายเรือตามหาท้าวจิตตราชกุมารก็ไม่พบ ส่วนท้าวจิตตราชกุมารก็นั่งรอและเดินออกตามหานางอรพิมในเวลาต่อมา ทั้งสองได้พลัดพรากกันเป็นเวลานาน

กล่าวถึงนางอรพิมได้อธิษฐานตนเป็นผู้ชายและเดินทางมาพบนางบัวทองที่ตายอยู่ในป่า จึงใช้ยาวิเศษรักษาจนฟื้นและนางบัวทองก็ขอเป็นทาสรับใช้ติดตามนางไปทุกแห่ง จนเดินทางมาถึงเมืองมิตถิลานคร นางได้เข้ารักษานางสิมพสีราชธิตตา ธิดาเจ้าเมืองมิตถิลาให้พื้นคืนชีพ เจ้าเมืองต้องการยกเมืองและราชธิดาให้แต่นางปฏิเสธ แต่ขอบวชเป็นพระแทน และได้สถาปนาเป็นสังฆราชของเมืองมิตถิลานครในเวลาต่อมา นางคิดถึงท้าวจิตตราชกุมารมาก จึงได้สร้างศาลาและมีแต้มรูปเรื่องราวของนางกับท้าวจิตตราชกุมารไว้ในศาลานั้น ทั้งยังสั่งนางบัวทองว่าถ้าผู้ใดดูภาพเหล่านี้แล้วร้องไห้ ให้มาแจ้งให้นางทราบ

 

กลับมาพบกันอีกครั้ง

ในที่สุดท้าวจิตตราชกุมารและนางก็ได้พบกันและได้พูดคุยกันแต่จิตตราชกุมารยังไม่รู้ว่านั่นเป็นนางอรพิม สังฆราชจึงขอให้จิตตราชกุมารบวชเป็นมหาสังฆราชเจ้าแทนตน จากนั้นสังฆราชลงจากกุฏิมาไหว้มหาเจดีย์และติดแต่งที่ทรงองค์ทั้ง 15 แห่งแล้ว ก็กลับกายเป็นเพศหญิง

 

บทสรุปของตำนาน

นางอรพิมก็กลับมาไหว้มหาสังฆราชเจ้า มหาสังฆจิตตราชจึงได้ขอลาสิกขาในเวลาต่อมา ทั้งสองเข้าเฝ้าเจ้าเมืองมิตถิลาและทรงอุสสาราชภิเษกหดสงเจ้าจิตตราชกุมาร ให้นางอรพิมกับทั้งนางสิมพลีขึ้นนั่งเหนือกอง(แก้ว) 7 ประการแล้ว อุสสาภิเษกยังนางอรพิมให้เป็นราชเทวีกับทั้งนางสิมพลีให้เป็นเมียเสมอกัน จากนั้นพระยาก็มามอบบ้านเวนเมืองส่วยไรในขงเขตเมืองมิตถิลานครทั้งมวลถวายแก่จิตตราชกุมาร ทั้งแต่งเครื่องบรรณาการของฝากข่าวทั้งหลายไปสู่เมืองอินทะปะถะนคร รวมถึงผัวเมียนายบ้านอันเป็นบิดามารดาของนางอรพิม เมืองทั้งสองจึงมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันเป็นเวลาช้านาน

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : บทความทางวิชาการ นิทานพื้นบ้านอีสานกับภาพสิมวัดบ้านยาง เรื่องนางอรพิม โดยนายณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์ นักวิจัย ประจำสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ขณะที่ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา ระบุว่า ตำนานท้าวปาจิตอรพิมแต่เดิมเป็นชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” จนต่อมากลายมาเป็นนิทานที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในภาคอีสาน และมีความสำคัญต่อการอธิบายชื่อบ้านนามเมืองของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองพิมาย ซึ่งปรากฏเอกสารในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310) นั่นคือ ปาจิตกุมารกลอนอ่าน ฉบับกรุงธนบุรี หรือ ตำนานเมืองพิมาย

 

เชื่อมโยงกับสถานที่และโบราณวัตถุ

เมื่อตำนานเชื่อมโยงกับสถานที่และโบราณวัตถุ จากเรื่องเล่านำมาผูกโยงกับสถานที่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นถ้ำเป็ดทอง เขาปลายบัด  บ้านนางเหริญ บ้านนางรำ บ้านตำแย บ้านจารย์ตำรา บ้านถนน บ้านสนุ่น บ้านท่าหลวง บ้านสัมฤทธิ์ บ้านปะเต็ล บ้านทุบจาน ตำบลกงรถ อำเภอลำปลายมาศ อำเภอนางรอง และอำเภอพิมาย โดยในอำเภอพิมายนั้น ตำนานท้าวปาจิตนางอรพิม ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับโบราณสถานเมรุพรหมทัต และปรางค์พรหมทัต นอกจากนี้จากการพบโบราณวัตถุเป็นรูปประติมากรรมสององค์คล้ายรูปบุรุษและสตรี บ้างก็ว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระนางชัยราชเทวี บ้างก็ว่าเป็นประติมากรรมเทวบุรุษและเทวสตรี แต่จากการค้นพบประติมากรรมทั้งสอง ตำนานท้าวปาจิตและนางอรพิมถูกหยิบโยงและถูกยกให้เป็นประติมากรรม "ท้าวปาจิต และ นางอรพิม" ของชาวพิมายจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลอ้างอิงจาก : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย นครราชสีมา

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม