ผู้ตรวจการแผ่นดิน คือใคร ทำหน้าที่อะไร สามารถร้องเรียนเรื่องอะไรได้บ้าง

25 ก.ค. 66

ผู้ตรวจการแผ่นดิน คือใคร ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องอะไร และใครบ้างที่สามารถส่งเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชนได้

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (Ombudsman) เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 3 คน 

“Ombudsman” หรือ “ออมบุดสแมน” ในภาษาสวีดิช หมายถึง “ผู้แทน” หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการตรวจการ หรือกระทำการต่างๆ ในประเทศอังกฤษเรียกว่า “Parliamentary Commissioner of Administration” เป็นบุคลากรหรือองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของฝ่ายปกครอง สำหรับประเทศไทย “ผู้ตรวจการ” ดัดแปลงมาจากคำว่า “ผู้ตรวจราชการ” (Inspector) ซึ่งในวิชาบริหารถือว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหารชั้นสูงคอยตรวจแนะนำ (ไม่ใช่สืบสวนเพื่อเอาผิด) แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการเอง ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน มีกำเนิดเริ่มต้นมาจากประเทศสวีเดน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1809

ประวัติความเป็นมาของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดินในประเทศไทยเริ่มมีการจัดตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 โดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา"

ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 11 ส่วนที่ 1 มาตรา 242 - 244 ประกอบบทเฉพาะกาลมาตรา 299 วรรคหนึ่ง กำหนดให้มี "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จำนวน 3 คน และให้ "ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา" ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2550) ดำรงตำแหน่งเป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดิน"

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (เดิมเรียกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา) คือ บุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนสามคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่ากรมตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด โดยต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน และเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี จำนวน 1 คน

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน

หน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

  • เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ
  • แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมนั้น *เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญ
  • หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายอื่น

การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจข้างต้น ต้องมุ่งหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุน และให้คำแนะนำ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างทัดเทียมกัน และลดภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ รวมทั้งขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมที่หน่วยงานของรัฐปฏิบัติต่อประชาชน

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม (1) และ (2) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป อนึ่ง ในกรณีการดำเนินการตามหน้าที่ข้างต้น พบว่า เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่สามประการข้างต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 22 มาตรา 23 และมีเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มีลักษณะดังต่อไปนี้ไว้พิจารณา

  • เรื่องที่เป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่นโยบายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือมีผลให้มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ
  • เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่เป็นการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
  • เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • เรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น หรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นแล้ว แต่ไม่ตัดอำนาจในการที่จะขอรับทราบผลการพิจารณาขององค์กรอิสระที่รับเรื่องไว้ดำเนินการ
  • เป็นการร้องเรียนโดยใช้สิทธิไม่สุจริตและการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
  • เรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอย่างเหมาะสมแล้ว
  • เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยสรุปผลการพิจารณาแล้ว เว้นแต่จะปรากฏพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่อันอาจทำให้ผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไป
  • เรื่องอื่นตามมติที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด

ในกรณีที่มีความปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสั่งยุติเรื่อง

ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินในปัจจุบัน

  1. นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน) (เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561)
  2. นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ (ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน)
  3. นายทรงศัก สายเชื้อ (ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 - ปัจจุบัน)

ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินได้อย่างไร

หากท่านได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ หรือมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือขั้นตอนปฏิบัติงานใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือเกินสมควรแก่เหตุ สามารถแจ้งหรือร้องเรียนได้ที่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามช่องทางด้านล่างนี้

1. การร้องเรียนทางสายด่วน

สามารถโทรผ่านหมายเลข 1676 (โทรฟรีทั่วประเทศ) หรือหมายเลข 08-141-9100 โดยการ ร้องเรียนสามารถแจ้งชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี) ของผู้ร้องเรียน และแจ้งเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทางของผู้ร้องเรียน

2. การร้องเรียนผ่านเครือข่ายของผู้ตรวจการแผ่นดิน

สามารถทำหนังสือน้องเรียนยื่นผ่านสำนักงานคุมครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการจังหวัดทั่วประเทศ สภาทนายความ และสำนักงานสาขาของสภาทนายความทั่วประเทศ

3. การร้องเรียนทางไปรษณีย์

ทำหนังสือร้องเรียนส่งไปยัง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
10210 หรือ ตู้ ปณ.333 ปณฝ.ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ 10215

4.การร้องเรียนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนธาษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ทำหนังสือร้องเรียนโดยยื่นผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

5. การร้องเรียนด้วยตนเอง

ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ เฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

6. การร้องเรียนทางอินเทอร์เน็ต

ที่ www.ombudsman.go.th หรือผ่านโปรแกรมรับเรื่องร้องเรียนที่ติดตั้งไว้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน

ในกรณีร้องเรียนเป็นหนั่งสืออย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียน

2. ระบุเหตุที่ทำให้ต้องร้องเรียนพร้อมด้วยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์
ที่เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนตามสมควร

3.ใช้ถ้อยคำสุภาพ

4. ลงลายมือชื่อผู้ร้องเรียน (หากต้องการปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนขอให้แจ้งด้วย) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะรักษาเป็นความลับอย่างเคร่งครัด

ข้อมูลจาก : wikipedia, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส