พิพากษายืน จำคุก “ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์” คดีเสียบบัตรแทนกัน

25 ก.ค. 66

พิพากษายืน จำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสน แต่ให้รอลงอาญา “ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์” อดีต สส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ  คดีเสียบบัตรแทนกัน 

วันที่ 25 ก.ค. 66 มีรายงานว่า ที่ศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นจำเลย 

ว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 เวลากลางวัน จำเลยในฐานะ สส. ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 โดยไม่ได้ลาประชุม ระหว่างเวลาประมาณ 13.30 น.-15.00 น. ซึ่งมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ…. จำเลยไม่ได้อยู่ในที่ประชุม และได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรของจำเลยแสดงตน และลงมติแทน 

โดยมีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 

ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี  แต่จำเลย ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 

ต่อมาองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้โอกาสโจทก์และจำเลยนำพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายเข้าไต่สวน เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยแล้ว และยังได้เรียกพยานบุคคลมาไต่สวนเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรด้วย 

ฉะนั้น การที่ศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้ความตามทางไต่สวนทั้งหมดประกอบกัน หาใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฟังแต่เพียงสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. แล้วผลักภาระการพิสูจน์ให้แก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียว 

เมื่อทางไต่สวนได้ความจากประจักษ์พยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 เวลาดังกล่าวนั้น จำเลยจัดทำโครงการเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัล ที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เมื่อจำเลยมาถึงงานได้มีการพูดคุยเตรียมงานก่อนขึ้นเวทีเสวนากับพยาน ต่อมาพิธีกรได้เชิญขึ้นเวทีเสวนาขณะนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 15 นาที ก่อนออกจากสถานที่จัดงานพยานกับจำเลยได้ถ่ายรูปร่วมกันบนเวที จากนั้นพยานใช้เวลาอีกประมาณ 15 นาที ในการพูดคุยกับผู้มาร่วมงานจนถึงเวลา 15.00 น. จึงออกจากสถานที่จัดงานโดยมีบันทึกไทม์ไลน์ส่วนตัวที่บันทึกไว้ใน Google Maps ยืนยันช่วงเวลาสัมพันธ์กับคำเบิกความของพยาน และสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับขั้นตอน และใกล้เคียงกับเวลาการจัดงานเสวนา 

นอกจากนี้พยานจำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดงาน (ออแกไนเซอร์) เบิกความว่า จำเลยมาถึงงานเสวนาเวลาประมาณ 13.30 น. และทุกคนลงจากเวทีเวลาประมาณ 14.00 น.ประกอบกับจำเลยมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำเลยมีกิจธุระสำคัญต้องออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปร่วมงานเสวนาวิชาการโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่แม่และเด็กในชุมชน และจำเลยยังแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางโพว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตน และลงมติในวาระที่หนึ่ง เวลา 13.41 น.และวาระที่สาม เวลา 14.01 น. เพราะรีบออกไปร่วมงานเสวนา อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาที่เกิดเหตุ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยลงมติด้วยตนเองครั้งสุดท้ายเวลา 13.22 น. ต่อมาในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … มีการลงมติ 2 ครั้ง โดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย คือเวลา 13.41 น. และเวลา 14.01 น.อันเป็นการลงมติต่อเนื่องจากเวลา 13.22 น. แสดงว่ามีบุคคลรู้ว่าจำเลยออกจากห้องประชุมเมื่อใด และจะกลับเข้ามาประชุมอีกหรือไม่ 

รวมทั้งต้องมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยในครอบครอง เพื่อลงมติแทนจำเลยได้ ทั้งเมื่อจำเลยกลับมาจากงานเสวนาก็ได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองลงมติในการแสดงตน และลงมติพิจารณาระเบียบวาระต่อไปอีกหลายครั้ง จนปิดการประชุม 

พฤติการณ์บ่งชี้ว่าต้องมีการคบคิดปรึกษากันมาก่อน ที่จำเลยมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ครั้งแรกยอมรับว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุม แต่ต่อมาจำเลยกลับมีหนังสือขอชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า จำเลยลงมติร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … ด้วยตนเอง ต่อมากลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตน และลงมติดังกล่าว และเบิกความต่อศาลสรุปความได้ว่า จำเลยไปร่วมงานเสวนา การแสดงผลลงมติตามฟ้องน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของระบบ หรืออาจมีผู้อื่นกดปุ่มลงมติโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย การให้การของจำเลยจึงมีลักษณะกลับไปกลับมาไม่น่าเชื่อถือ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยอยู่ลงมติด้วยตนเองไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง 

ทั้งการที่ผลแสดงตน หรือลงมติ จะมีชื่อสมาชิกคนใดลงคะแนนอย่างไร พยานโจทก์เบิกความว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้บัตรอิเล็กทรอนิส์ของตนเสียบเข้าเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ กับต้องกดปุ่มแสดงตนหรือลงมติด้วย ดังนั้น หากไม่มีการเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตน และลงมติที่เครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์และกดปุ่มแล้ว หรือมีการเสียบบัตรค้างไว้แต่ไม่ได้กดปุ่มใดย่อมไม่อาจเกิดการประมวลผลใดๆ ขึ้นได้ สำหรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการประชุมเป็นข้อผิดพลาดในขั้นตอนของการประมวลผล ไม่ใช่ข้อผิดพลาดของระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ และในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 

จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติก่อนและหลังเวลาเกิดเหตุหลายครั้ง แต่จำเลยกลับโต้แย้ง เฉพาะเวลา 13.41 น. และ 14.01 น.ว่าระบบขัดข้องหรือผิดพลาด หากจำเลยลงมติด้วยตนเองจริงจำเลยย่อมต้องแจ้งต่อที่ประชุมสภาถึงข้อผิดพลาดนั้นในทันที เชื่อว่าระบบการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตน และลงมติไม่เกิดข้อขัดข้องหรือผิดพลาดดังที่จำเลยอ้าง 

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดี และพยานหลักฐานแวดล้อมมีเหตุผล และน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย ลงมติแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงพิพากษายืน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม