"สามารถ" ท้า ร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ระวังหน้าแตก

21 ก.ค. 66

"สามารถ" ท้า รีบไปร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปมข้อบังคับประชุมสภาฯ แต่ระวังหน้าแตกกลับมา ชี้ความเห็นรัฐสภาถือเป็นที่สุดแล้ว 

วันที่ 21 ก.ค. 66 นาย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสว่าจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปมรัฐสภา ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 คว่ำการเสนอชื่อนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ว่า 

ตนไม่มั่นใจว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ พูดด้วยภยาคติ หรือพูดด้วยความมีอคติ หรือพูดด้วยความที่ไม่รู้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญใหญ่สุดแล้ว ไม่มีใครเถียงอันนี้ชัดเจน กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะมีกฎหมายหรือมีอะไรมาขัดแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ 

แต่ประเด็นนี้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมกี่รอบก็ได้ คือเขาบอกให้หานายกรัฐมนตรี แต่เขาไม่ได้บอกให้เสนอคนเดิมได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ ก็ต้องเกิดการตีความว่าแบบนี้ เสนอนาย พิธาอีกรอบได้ไหม ปรากฎก็มีการเปิดข้อบังคับรัฐสภาข้อ 41 บอกว่าไม่ได้ เนื่องจากเป็นญัตติ แล้วญัตติของนาย พิธานั้นตกไปแล้ว ก็เลยมีการเถียงกันในข้อบังคับ 151 ก็คือใช้การโหวตร่วมกันของสภา หมายความว่าถ้าเห็นแย้งกันก็โหวต ประธานรัฐสภาก็ให้สมาชิกในห้องประชุมรัฐสภาโหวตว่าขัด หรือไม่ขัด เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ตามข้อบังคับ 151 ซึ่งเมื่อรัฐสภาก็ลงมติไปแล้ว 

นายสามารถ กล่าวต่อว่า ตนถามว่า จะร้องเรื่องอะไร จริงๆ ควรจะไปร้อง ต้องไปร้องคนที่ลงมติ จะเอานาย พิธามาเป็น นายกรัฐมนตรี รอบ2 ขาดคุณสมบัติหรือเปล่า เพราะนาย พิธา วันที่ลงมติเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งวินิจฉัยแล้วว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ฉะนั้นแปลว่านาย พิธานั้นอาจจะขาดคุณสมบัติการเป็น สส. ตามมาตรา98 (3) ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา160 (6) ระบุไว้ชัดเจนว่า คนจะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 98 ฉะนั้นใครที่โหวตให้นาย พิธาอาจจะติดคุก เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นนักกฎหมาย อดีต ผบ.ตร. มีความรู้ ท่านไม่ลงมติ เพราะรู้กฎหมาย แต่คนไม่รู้กฎหมายออกมาพูดชี้นำผิดๆ ไม่ถูกต้อง 

"รัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ฉะนั้นความเห็นของรัฐสภา ก็คือกฎหมายอยู่เเล้ว ฉะนั้นการที่จะไปร้องศาลธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ที่ทำนั้นไม่ชอบ ผมว่าบ้าจี้ ลองไปร้องดู และถ้าเกิดเป็นอย่างที่เขาร้องว่า มติที่ลงไว้เป็นโมฆะ ผมจะโกนหัวให้ดูเลย จะได้เลิกบ้าจี้ คือวันนี้ต้องชี้นำสังคมให้ถูกต้องก่อน คือบางคนไม่รู้ แล้วไปพูด ผมว่าสังคมเละเทะ รัฐสภาทำหน้าที่ออกกฎหมาย ฉะนั้นอะไรที่ออกจากรัฐสภานั้นมันก็โดยหลักเกณฑ์อยู่แล้ว อำนาจประเทศไทย แบ่งเป็น 3 อำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา เมื่อวานความเห็นรัฐสภาเป็นที่สุดแล้ว" นายสามารถ กล่าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม