“ศิธา” เปรียบ โหวตนายกรัฐมนตรี เหมือนพิธีกรรม ท่องนะโม 3 จบ

13 ก.ค. 66

ศิธา” เปรียบ โหวตนายกรัฐมนตรี เหมือนพิธีกรรมที่จะต้องมีการท่องนะโม 3 จบ แนะเราเปลี่ยนเกมใหม่ ให้เขามาเล่นเกมประชาธิปไตยบ้าง 

วันที่ 13 ก.ค. 66 นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย เดินทางมาเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมรัฐสภา พร้อมกล่าวถึงการ โหวตนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้แต่ละคนมีธงในใจที่กำหนดอยู่แล้ว น่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนจะมีการเสนอเลื่อน โหวตนายกรัฐมนตรี หรือโหวตคว่ำโดย ส.ว.หรือไม่นั้น สภาได้กำหนดกระบวนการ และแบ่งเวลาเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว คาดว่าในเวลา 17.00 น. น่าจะมีการโหวต 

เมื่อถามว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้ฝากอะไรหรือไม่ น.ต.ศิธา กล่าวว่า หลังจากที่คุณหญิงสุดารัตน์ลาออก และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็เป็นกังวลว่าราชกิจจานุกเบกษาอาจจะประกาศชื่อ ส.ส.ใหม่ไม่ทัน ไม่มีคนมาโหวต ทำให้เสียงโหวตหายคะแนน เสียงหายไป 

น.ต.ศิธา กล่าวว่า ส่วนทิศทางการ โหวตนายกรัฐมนตรีเย็นนี้ เนื่องจากกระบวนการสรรหา และเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถทำได้โดยปกติ เพราะได้มีการฝั่ง ส.ว. เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการต่อสู้แบบนิติสงครามที่เกิดขึ้น โดยคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ ส.ว. 250 คน เพราะการ โหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการเขียนกติกาให้คนที่คุมกุญแจ ที่จะสามารถไขเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลได้คือ ส.ว. 250 คน ที่จะเป็นคนตัดสินว่าจะให้ใครได้เข้าไป ทำให้ไม่ว่าพี่น้องประชาชนฝั่งไหนจะเลือกใคร รวม ส.ส.ได้ 312 เสียง จากสภา 500 คน กลับไม่มีความหมายในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ ส.ว. 250 คน ว่าจะให้เป็นใคร 

น.ต.ศิธา กล่าวอีกว่า กลายเป็นว่า 8 พรรคที่ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์จัดตั้งรัฐบาล และตกลงกันได้ว่าใครเป็นผู้นำ ต้องมาเสนอ ส.ว.ว่าคนนี้โอเคไหม ถ้า ส.ว.โอเคก็จะผ่าน ซึ่งเท่าที่ดูตอนนี้คือ ไม่โอเค ทำให้ 8 พรรคเดิม ต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ อีก 3 ท่าน จากพรรคเพื่อไทย และต้องกลับไปถาม ส.ว.อีกจนกว่าจะพึงพอใจและอนุมัติให้ผ่าน 

“เปรียบเหมือนพิธีกรรมที่จะต้องมีการท่องนะโม 3 จบ จบที่ 1 คือ เป็น 8 พรรคร่วมและคุณพิธา จบที่ 2 เป็น 8 พรรคร่วม กับอีก 3 คนของพรรคเพื่อไทย แล้วจะไปถึงจบที่ 3 หรือไม่ ซึ่งจบที่ 3 นี้กลายเป็นว่า จะต้องหยิบพรรคใดพรรคหนึ่งออก โดยมีพรรคใดสมัครใจไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วเอาพรรคอื่นเข้ามาแทน ถ้าเป็นแบบนี้ผมมองว่า ขั้วอำนาจเดิม ซึ่งมาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร จะเข้ามายุ่งเหยิงกับประชาธิปไตย กับการแก้รัฐธรรมนูญ และเรื่องขององค์กรอิสระก็จะเข้ามาวุ่นวายอีก ดังนั้นหากเราไม่เล่นในเกมที่เขาเขียนไว้ เราก็ต้องเปลี่ยนเกมใหม่ เพื่อให้เขามาเล่นเกมประชาธิปไตยบ้าง โดยให้ 2 พรรคจับมือกัน และยืนยันว่าจะไปด้วยกัน เพราะถึงอย่างไรคะแนนในสภาผู้แทนราษฏร ก็ยังเป็นเสียงข้างมากอยู่ดี” น.ต.ศิธา กล่าว  

 

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า และหาก ส.ว.จะโหวตเสียงข้างน้อยให้ไปเป็นรัฐบาล กลไกในการบริหารก็จะมีแค่ 10 กว่าเดือน ไม่ถึง 1 ปี กระทั่ง ส.ว.หมดวาระ และเขาคงคิดได้เองว่าแรงกดดันทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่เห็นว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเลือกรัฐบาลไม่ได้เสียทีก็ไปอยู่ที่คนลงคะแนน แต่ถ้าไปเล่นในเกมที่ว่า ดึงพรรคนั้นออก พรรคนี้ออก ก็จะกลายเป็นว่าช่องทางในการสืบทอดอำนาจไปอีก

advertisement

ข่าวยอดนิยม