"ปดิพัทธ์" ลาออก กรรมการบริหารก้าวไกล ยัน ทำหน้าที่เป็นกลาง

4 ก.ค. 66

"พิธา"ชี้ ผลโหวต สะท้อนความเป็นเอกภาพ เน้น ชาติ -ประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้าน "ปดิพัทธ์" ลาออก กก.บห. ยัน ทำหน้าที่เป็นกลาง 

วันที่ 4 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนาย ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก ในฐานะว่าที่ประธานสภาฯ คนที่ 1 ร่วมกันเเถลงข่าว โดยนาย พิธา แถลงว่า ผลการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ น่าจะยืนยันการทำงานร่วมกันของ8พรรคร่วม ในการรวบรวมเสียงไม่ให้แตกแถว ตัวเลขที่ออกมาแสดงถึงเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน น่าจะเป็นทิศทางที่ดี เป็นแนวโน้มที่ดีในการเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาล ขอยืนยัน ทั้งนายนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ รวมถึงรองอีก2 คน จะร่วมกันผลักดันกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับพี่น้องชาติพันธุ์ กฎหมายสุราก้าวหน้า กฎหมายสมรสเท่าเทียม จะไม่เป็นปัญหาอุปสรรค ยืนยันว่าความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวในการผลักดันกฎหมายสำคัญตามที่ได้แถลง ทั้งการนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองและการปฏิรูปกองทัพตามที่ได้แถลงไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อ 1 ในฐานะหัวหน้าพรรคและว่าที่นายกฯ จะน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปปรับใช้กับพรรค หรือไปใช้กับสมาชิกพรรค ไหม ข้อ2.โหวตประธานสภาฯวันนี้ถือว่าสำเร็จ มั่นใจตัวเองในวันโหวตเลือกนายกฯ ไหมว่า จะมีบรรยากาศความสำเร็จแบบในวันนี้เกิดขึ้น นายพิธา กล่าวว่า ตอบข้อที่ 2ก่อน ว่า ก็มั่นใจ ส่วนข้อที่ 1 ก็จะนำพระราชดำรัสโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่าชาติ และประชาชน ที่ท่านเน้นมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ครับ

เมื่อถามถึงแถลงการณ์ร่วม2พรรคระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 3ก.ค. ที่มีเรื่องเกี่ยวกับนิรโทษกรรม นายพิธา กล่าวว่า เป็นการเห็นชอบร่วมกันของ2พรรคส่วนเรื่องรายละเอียดคงต้องคุยกันในสภา ทั้งนี้ได้ชี้แจงให้อีก6 พรรครับทราบแล้ว

ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนได้ลาออกจากการทำหน้าที่กรรมการบริหารพรรค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ยืนยันว่าคณะทำงานทั้งประธานและรองประธานสภาฯ ก็มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการอะไรอย่างไรเพื่อให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า โปร่งใส ตนได้คุยกับนายวันมูหะมัด นอร์มะทา เห็นตรงกันในหลายมิติเพื่อผลักดันการทำงานต่อไป ส่วนวาระที่เตรียมจำผลักดันหลังจากนี้คงต้องรอให้ได้รับการจัดสรรหน้าที่จากท่านประธานก่อน    

เมื่อถามว่ามีความกังวลว่าเมื่อมีการเปลี่ยนตัวประธานอาจส่งผลไปถึงการพิจารณากฎหมายโดยเฉพาะ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เชื่อว่าเมื่อมีการผลักดันกฎหมายเข้าสู่วาระ คำวินิจฉัยของประธานจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการบรรจุญัตติทุกญัตติ ฉะนั้นถ้าผ่านขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตนได้เคยแจ้งไปแล้วว่าเมื่อกระบวนการถูกต้องก็ต้องใช้กระบวนการของสภาในการวินิจฉัย

             

 

           

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม