ดราม่า “ไข่ต้ม” รมว.ศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. ทบทวนแบบเรียน “ภาษาพาที”

24 เม.ย. 66

ดราม่า “ไข่ต้ม” แบบเรียน “ภาษาพาที” รมว.ศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. ทบทวนปรับแบบเรียนให้มีคุณภาพ หลังโดนจวกยับ แจงเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ

จากกรณีดราม่า “ไข่ต้ม” แบบเรียนหนังสือภาษาไทย “ภาษาพาที” ระดับชั้น ป.5 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีเนื้อหา กินไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ถือเป็นความพอเพียง แต่กลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง เรื่องโภชาการ และความเหลื่อมล้ำนั้น

ล่าสุดวันที่ 24 เม.ย. 66 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และตนได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบบเรียนดังกล่าว และนำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแบบเรียนในอนาคตให้ได้แบบเรียนที่มีคุณภาพ

ในฐานะ รมว.ศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และภาวะทุพโภชาการในเด็ก จึงได้ผลักดันให้เพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก เยาวชน และนโยบายด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องโภชนาการที่ดีของเด็ก จึงได้อนุมัติให้เพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันของนักเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ จากที่ได้รับ 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นปรับเพิ่มให้ตามขนาดของโรงเรียน โดยโรงเรียนขนาดเล็กได้ปรับเพิ่มสูงสุดที่ 36 บาทต่อคนต่อวัน และได้เริ่มจัดสรรงบประมาณลงไปแล้ว โดยได้เน้นย้ำไปว่าโรงเรียนต้องจัดอาหารให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีสุขภาพกายที่พร้อมต่อการเรียนรู้

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า รัฐบาลเข้าใจภาระค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น จึงได้เพิ่มเงินงบประมาณการจัดการศึกษา ในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยจัดงบประมาณส่งตรงถึงโรงเรียน เพื่อสนับสนุนค่าจัดการเรียนการสอน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และโรงเรียนส่งเงินส่วนหนึ่งให้ผู้ปกครองนักเรียนซื้อเครื่องแบบนักเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียนด้วยตนเอง ทำให้ในภาพรวมมีงบประมาณรายหัวเพื่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้มีการยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษา ให้ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศ มีการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ทั้งกลุ่มที่อยู่ในและนอกระบบโรงเรียน กลุ่มเปราะบางให้สามารถได้เรียนและมีอาชีพติดตัว รวมถึงลดภาระงานครู ลดการประเมินต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น

“ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ประสบผลสำเร็จ และได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ สามารถพาเด็กตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามามีโอกาสเรียนอีกครั้ง ล่าสุดมีเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้ามาเรียนมากถึง 79,318 คน และถึงแม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ยังดำเนินการติดตามเด็กที่ยังไม่กลับมาให้กลับเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ผลักดันนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้ทั้งส่วนกลางและทุกสถานศึกษาตื่นตัวมีความตระหนักถึงความสำคัญ ผลงานที่ปรากฏออกมาก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริง” น.ส.ตรีนุช กล่าว

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส