MEA ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบงานโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ถนนพระราม 3

17 ก.พ. 66
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยในการทำงาน รวมถึงการคืนสภาพการจราจรในพื้นที่ถนนพระราม 3 ร่วมกับผู้รับจ้าง เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนพระราม 3 ตลอดจนบูรณาการแนวทางลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ตั้งแต่สะพานกรุงเทพ ถึงเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร

s__1310768

s__1310760

ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดความปลอดภัย และเกิดทัศนียภาพที่สวยงาม สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ถนนพระราม 3 นับเป็นโครงการหนึ่งที่มีอุปสรรค ต่อการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ ลักษณะชั้นดิน อันเป็นปัญหาทางกายภาพ ส่งผลให้การทำงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยก่อนหน้านี้ MEA ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ในการจัดการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด
 
ผู้ช่วยผู้ว่าการกล่าวต่อไปว่า MEA ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการดำเนินงานร่วมกับผู้รับจ้าง ตลอดจนได้วางมาตรการกำกับการปฏิบัติงานของบริษัทผู้รับเหมา โดยการจัดให้มีการตรวจสอบความเรียบร้อยของฝาบ่อ และผิวจราจรตลอดระยะพื้นที่ของโครงการก่อสร้าง 2 ช่วงเวลาต่อวัน รวมถึงการจัดทีมงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขเหตุเร่งด่วน และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

s__1310765

s__1310767

ในด้านความคืบหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ล่าสุดรวมมีระยะทางดำเนินโครงการทั้งสิ้น 236.1 กิโลเมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2570 โดยมีแผนดำเนินการในปีนี้ 29.2 กิโลเมตร ทำให้ภายในปี 2566 จะมีระยะทางแล้วเสร็จสะสม 91.2 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่โครงการนนทรี รวมถึงบางส่วนของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และสว่างอารมณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน
 
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของ MEA รวมถึงพบสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด หรืออยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนระบบ iOS และ Android ของ MEA ดาวน์โหลดฟรี คลิก https://onelink.to/measmartlife หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม