มาเป็นชุด! “เรืองไกร” ร้อง “ป.ป.ช.” สอบ 3 ปมร้อน  

11 ธ.ค. 65

 

“เรืองไกร” ร้อง “ป.ป.ช.” สอบ 3 ปมร้อน “สหายแสง - พ่อมดดำ” ฝืนจริยธรรมหรือไม่  พ่วง “เอกสารผู้ถือหุ้น” โยง “ส.ส.เพื่อไทย” พัน “ตู้ ห่าว”

วันที่ 11 ธ.ค. 65 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตนได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ตรวจสอบนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ว่ามีการฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่ และส่งสำเนาใบเสร็จค่าปรับของนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่1ที่จ่ายไป 10,000 บาท ให้ ป.ป.ช. ประกอบการตรวจสอบตามคำร้อง รวมถึงส่งสำเนาเอกสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ขอคัดมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเส้นทางการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ที่มีชื่อนายหาวเจ๋อ ตู้ หรือตู้ห่าวด้วย

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า กรณีนายศุภชัย ที่ได้กล่าวขอโทษกรณีไปปราศรัยว่าคนจังหวัดหนึ่งเป็นคนโง่ และมีการยอมรับว่าปราศรัยทำนองนั้นจริง พร้อมทั้งไหว้ขอโทษในสภาฯ ไปแล้วนั้น กรณีดังกล่าว จึงมีเหตุที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการปราศรัยดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่ ขณะที่กรณีนายสุชาติ ที่ถูกแจ้งความว่าทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายทางกายหรือจิตใจ และต่อมานายสุชาติ ได้ยอมรับและไปเสียค่าปรับจำนวน 10,000 บาท แล้วนั้น กรณีนี้จึงมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ควรส่งให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบนายสุชาติ ต่อไปว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีการถือครองหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยรายหนึ่ง (ในนามคู่สมรส) นั้น จากการขอสำเนาเอกสารบริษัทดังกล่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม พบข้อพิรุธพอสมควร ทั้งการเข้าชื่อจองซื้อหุ้น รายชื่อผู้ก่อตั้งบริษัท การจ่ายชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด 20,000,000 บาท และการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่มีความสับสนในเลขหมายของใบหุ้น ของนายหาวเจ่อ ตู้ ที่สลับกันไปมาหาไม่มีความสัมพันธ์กันตามหลักที่ควรจะเป็น ซึ่งคนที่ไม่เคยทำบัญชี หรือตรวจสอบบัญชี อาจไม่เข้าใจการจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และการออกใบหุ้นที่ชำระเต็มมูลค่า การลงทะเบียนโอนเปลี่ยนแปลงหุ้น ซึ่งจะมองไม่เห็นข้อพิรุธเหล่านี้ โดยเรื่องนี้ อาจมีการแจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ตรงกับความเป็นจริงในหลายจุด กรณีจึงมีเหตุที่ควรส่งสำเนาเอกสารที่ขอมาเพิ่มเติมให้ ป.ป.ช. นำไปตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และบุคคลของบริษัทดังกล่าวที่เป็นผู้ลงนามในเอกสารต่าง ๆ ต่อไปว่า มีการแจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม