นักวิชาการ ชี้โอกาสใหม่ต่างชาติซื้อที่ดินในไทย ไม่ใช่ขายชาติ

4 ธ.ค. 65

หน.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบเพื่อทุกคน สถาปัตย์จุฬาฯ หนุนเปิดทางชาวต่างชาติซื้อที่ดินในไทย ไม่ใช่ขายชาติ แนะเรียนรู้แนวทางดึงดูดการลงทุนจากเพื่อนบ้านทั่วโลก

วันที่ 4 ธ.ค. 65 รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอมุมมองวิชาการผ่านเว็บไซต์ terrabkk ในหัวข้อ “โอกาสใหม่ หรือ ขายชาติ เมื่อชาวต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทย”  โดยระบุว่า มีเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แบ่งเป็น 1.ประเทศที่ไม่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินสำหรับชาวต่างชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี คอสตาริกา 2.ประเทศที่มีข้อตกลงการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น โครเอเชีย ตุรกี และเกาหลีใต้ เปิดให้เฉพาะบางสัญชาติที่มีข้อตกลงการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อียิปต์อนุญาตสิทธิการเช่า 99 ปี

รศ.ไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเสริมของแต่ละประเทศ เพื่อป้องกันราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น หรือเพื่อเหตุผลความมั่นคง เช่น สวิสเซอร์แลนด์จำกัดจำนวนชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในแต่ละปี สหราชอาณาจักรเก็บภาษีกำไรจากการขายที่สูงกว่ามาก ออสเตรเลียจำกัดเฉพาะประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อได้ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นโครงการก่อสร้างใหม่เท่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายสามารถถูกตัดสินจำคุกหรือปรับจำนวนมาก ศรีลังกาให้ชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดิน แต่มีภาษีการโอน 100% แคนาดา และจังหวัดชายฝั่งตะวันออกอื่นๆ รวมถึงจังหวัดควิเบก ออนแทรีโอ และบริติชโคลัมเบียไม่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของในต่างประเทศ ออสเตรเลียชาวต่างชาติที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียและบริษัทต่างๆ สามารถซื้อการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ถึง 50% และได้รับอนุญาตให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินใหม่ เพื่อสร้างอาคารได้ตราบเท่าที่การก่อสร้างเริ่มขึ้นภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ซื้อ สามารถซื้อทรัพย์สินที่เก่ากว่าได้โดยมีเงื่อนไขว่าอย่างน้อย 50% ของราคาซื้อจะใช้ในการปรับปรุง  

รศ.ไตรรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศที่ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ในเอเชีย มีดังนี้ 1. มาเลเซีย 2.เกาหลีใต้ 3. ไต้หวัน 4. ญี่ปุ่น 5. สิงคโปร์ โดยในรายงานยังได้นำเสนอความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมการถือกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติในไทยยังไม่ถึง 49% ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะยูนิตที่มีราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทมีไม่ถึง 10% ที่คนต่างชาติถือครองอยู่ ส่วนยูนิตที่ราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป มีชาวต่างชาติถือครองอยู่ 20% กลุ่มชาวต่างชาติประเภทที่ต้องการ Work from Thailand ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็น Skill Labor, High Technology เราสามารถกำหนดให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น EEC เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้เร็วกว่า ปัจจุบันต่างชาติมีการถือครองโดยนอมินีอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำทุกอย่างให้อยู่บนโต๊ะ อย่าไปทำใต้โต๊ะแบบผิดกติกา บางครั้งการที่เราปฏิเสธความจริง ทำให้ความจริงหลบไปข้างล่าง เป็นตลาดมืด กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถ้าเรายกขึ้นมาบนดินเพื่อให้รัฐได้ภาษี ได้ค่าธรรมเนียม ได้ทุกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น  

“คำพูดที่ว่าให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ เป็นการขายชาตินั้น ถือเป็นการพูดที่ไม่ได้ศึกษารายละเอียดของเพื่อนบ้าน หรือกรณีศึกษาที่ประเทศอื่นๆ เขาทำกัน และเป็นแนวความคิดชาตินิยมยุคสงครามโลกที่เก่ามาก การเปิดให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศนั้นๆได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของพื้นที่ รูปแบบการถือครอง คุณสมบัติของคนที่มีสิทธิ์ หรือแม้กระทั่งการผูกรวมกันกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน การทำงาน ถือเป็นสิ่งปกติที่ประเทศต่างๆทำกัน เราต้องยอมรับว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เริ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ การมีสิทธิ์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นจุดเด่นสำคัญประการหนึ่ง อย่างไรก็ตามการค่อยๆเปิด ทดลองทำในบางพื้นที่ และบางประเภทของอสังหาริมทรัพย์ น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจเริ่มทำทันที” รศ.ไตรรัตน์ ระบุ

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส