วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ "กราดยิง" และวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉินเมื่อเผชิญเรื่องไม่คาดคิด

3 ต.ค. 66

วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ "กราดยิง" และวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉินเมื่อเผชิญโศกนาฏกรรมที่สร้างปมบาดแผลในใจ และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

“กราดยิง” หรือ Mass Shooting  เหตุโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลด  ยังเป็นปมบาดแผลในใจให้กับผู้ที่ต้องสูญเสีย

แต่ในประเทศไทยกลับเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำรอย โดยที่เราไม่มีทางคาดเดาล่วงหน้าได้เลยถึงภัยที่จะมาถึงตัวเอง ห้างสรรพสินค้า อาคารสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่โรงเรียน สถานที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ปิด มีทางออกอยู่อย่างจำกัด  กลายเป็นสถานที่เสี่ยง ที่มักถูกเลือกใช้ก่อเหตุ  การเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด  ฝึกตนเองให้เป็นคนช่างสังเกตสิ่งผิดปกติโดยรอบ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ร้ายแบบเฉพาะหน้า จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

ทีมครูฝึกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ให้คำแนะนำว่า นอกจากการรู้จักกับอาวุธและเสียงจากอาวุธ การฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลองแล้ว  สิ่งที่ควรฝึกให้เป็นนิสัย เมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ คือการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะบุคคลที่เดินสวนกันไปมา เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เราอาจจะเผชิญกับการก่อการร้าย เช่นการกราดยิง หรือไล่ทำร้ายร่างกายก็เป็นได้

โดยสิ่งที่เราควรจับสังเกต มักเป็นจุดที่คนทั่วไปไม่กระทำเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ เช่น

การแต่งกายของคนร้าย ส่วนใหญ่จะสะพายกระเป๋า ใส่เสื้อคลุม ที่ดูปกปิด มิดชิด เพื่อซ่อนอาวุธที่นำมา ท่าทางการเดิน จะเป็นการก้าว ระยะสั้นๆ เนื่องจากต้องประคองปืนขณะเดิน

การสังเกตท่าทางของคนรอบข้าง หากไม่น่าไว้วางใจ ควรอยู่ให้ห่าง และมองหาทางออกไว้ล่วงหน้า

หากเกิดเหตุการณ์กราดยิงขึ้น

สิ่งที่ควรทำมี 3 ข้อ คือ Run - Hide - Fight

  1. Run (หนี) เมื่อเผชิญเหตุ สิ่งแรกที่ต้องทำคือวิ่งหนีหาทางออกที่ปลอดภัยที่สุด โดยการมองหาประตู หรือทางออกฉุกเฉิน เพื่อออกจากสถานการณ์นั้นให้เร็วที่สุด หากเป็นไปได้ให้พาเพื่อนและคนรอบข้างออกไปด้วย ขณะวิ่งต้องพยายามเก็บเสียงให้เงียบ และวิ่งให้ไวที่สุด อย่ากลับเข้าพื้นที่นั้นโดยเด็ดขาด

 

  1. Hide (ซ่อน) หากวิ่งจนเจอทางตันแล้ว ถัดมาคือการซ่อน และข้อพึงระวังคือ ห้ามซ่อนหลังประตู เพราะประตูมักจะเป็นจุดแรกๆที่คนร้ายจะเล็งเป็นเป้า และประตูก็ไม่สามารถกันกระสุนได้  ดังนั้นควรมองหาจุดที่กันกระสุนได้ หรือ หากเป็นห้อง ให้ล็อคกลอน และหาวัตถุที่มีน้ำหนักมาขวางประตูไว้

 

เมื่อหาที่ซ่อนได้แล้ว จะต้องอยู่ให้เงียบที่สุด ปิดระบบเสียงโทรศัพท์ หรี่แสงของโทรศัพท์ให้เหลือน้อยที่สุด และรอจนกว่าสถานการณ์จะสงบลง

 

  1. Fight (สู้) เมื่อถึงทางออกสุดท้าย หนีไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องหันหน้ามาสู้ เพื่อหาทางรอดอีกครั้ง อันดับแรก ต้องควบคุมสติ มองหาสิ่งรอบตัวที่เป็นอาวุธได้ ปากกา ขาแว่น หรือหาของแข็งที่จับกระชับมือ มุ่งเป้าไปที่จุดอ่อนต่าง เช่น จิ้มตา ต้นคอ หรือ จุดอ่อนอื่นๆ เมื่อคนร้ายเสียหลักให้พยายามหนี ให้เร็วที่สุด

 

ส่วนการขอความช่วยเหลือนั้น เมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ สิ่งแรกตำรวจจะเข้าจัดการคนร้ายก่อน เมื่อจัดการคนร้ายได้แล้ว จึงจะเข้าช่วยคนเจ็บตามมา

วิธีแจ้งเหตฉุกเฉินด้วยหลัก LCAN

  1. Location บอกจุดตำแหน่งที่อยู่
  2. Condition แจ้งว่าเกิดอะไรขึ้น
  3. Action กำลังเผชิญกับอะไร
  4. Need ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด

อีกสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ เมื่อเราต้องเผชิญเหตุร้ายที่ไม่คาดคิด อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเข้า- ออกจะถี่ขึ้น สูญเสียการได้ยิน เมื่อคิดถึงแต่ภัย เราจะไม่รับรู้สิ่งรอบตัว ในช่วงเวลานี้การตั้ง “สติ” ไม่ร้องไห้ โวยวาย เงียบที่สุด และหนีให้เร็วที่สุดคือสิ่งที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้

 

 ข้อมูลจาก : โรงเรียนเพลินพัฒนา

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส