หมอธีระ แนะจับตาหลังสงกรานต์ ป่วยใหม่อาจพุ่ง 2-3 เท่า เผยโควิดทำอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง

17 เม.ย. 65

หมอธีระ ชวนจับตายอดผู้ป่วยใหม่หลังเทศกาลสงกรานต์ 2565 อาจพุ่งสูง 2-3 เท่าจากต่ำสุด 30,000 รายต่อวัน ซ้ำรอยกับปี 64 ห่วงเด็กเล็กติดเชื้อ เปิดผลวิจัยพบ โควิด-19 ทำอายุขัยเฉลี่ยประชากรสั้นลง  

วันนี้ (17 เม.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ โดยระบุว่า

17 เมษายน 2565 ไทยผ่านช่วงพีคมาตั้งแต่ 10 มีนาคม 2565 ขาลงใช้เวลาราว 1.5 เท่าของขาขึ้น ตามลักษณะที่เห็นจากธรรมชาติการระบาดของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จึงสังเกตได้จากภาพที่ 3 และ 4 ว่ากราฟการระบาดที่แสดงจำนวนการติดเชื้อจากรายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวน ATK มีลักษณะเหมือนกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขของไทย ที่มีเสรีการใช้ชีวิตมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ร่วมกับเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการปะทุระบาดหนักมากขึ้นได้คล้ายกับหลายประเทศในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่จะปะทุจนทำให้จำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงขึ้นเป็น 2-3 เท่าของ baseline ก่อนเกิดการปะทุ ภายในเวลา 3-4 สัปดาห์

ดังนั้นหากยอด RT-PCR รวมกับ ATK ในจุดที่ต่ำสุดอยู่ราว 30,000 การปะทุก็น่าจะทำให้เกิดจำนวนติดเชื้อมากขึ้นราว 2-3 เท่า ถ้าเป็นไปตามลักษณะของต่างประเทศ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ สงกรานต์ปีที่แล้ว ในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเมษายนเราพบว่าการติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของช่วงก่อนสงกรานต์ และเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่มีจำนวนสูงขึ้นไปอีกเป็น 2 เท่าของปลายเมษายน

คงต้องติดตามดูต่อไปว่า การระมัดระวัง ป้องกันตัวของเราทุกคนจะช่วยลดโอกาสเกิดการปะทุซ้ำได้มากน้อยเพียงใด เพราะพฤษภาคมจะมีการเปิดเทอมของเด็กๆ ซึ่งหากจำนวนติดเชื้อในชุมชนสูงมาก ก็คงน่าเป็นห่วง เพราะมีเด็กเล็กอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุที่จะรับวัคซีนได้ และมีอีกไม่น้อยที่แม้อยู่ในช่วงอายุที่รับวัคซีนได้ ก็ยังไม่ได้ไปรับ การติดเชื้อ Omicron ในเด็กเล็ก นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้มาก ผู้ปกครองควรดูแล ป้องกันเด็กๆ ของเราให้ดี

ขณะเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ ยังได้โพสต์ถึงผลวิจัยที่พบว่า โควิด-19 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง ระบุ งานวิจัยจากอเมริกาโดย Woolf SH และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สากล JAMA Network Open เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เปรียบเทียบให้เห็นผลของการระบาดระลอกแรกของโรคโควิด-19 ใน 22 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศต่างๆ ที่มีการระบาดหนัก ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ย่อมทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศนั้นสั้นลง

ทั้งนี้ในปี 2020 ซึ่งระบาดระลอกแรกนั้น ประเทศที่มีการคุมการระบาดได้ดี (เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์) จะมีอายุขัยเฉลี่ยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีการระบาดหนัก จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยลดลง โดยสหรัฐอเมริกาลดลงมากที่สุดถึงเกือบ 2 ปี 
 
งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นสัจธรรม และความสำคัญของการควบคุมป้องกันโรค แน่นอนว่า หากมีการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากระลอกเดลต้าและ Omicron ผลกระทบน่าจะมากกว่าที่เห็นจากระลอกแรก
 
อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น ไม่ได้เกิดผลกระทบเพียงการเสียชีวิตและอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความสูญเสียด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วย ผลิตภาพโดยรวมที่ลดลงจากการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID รวมถึงผลกระทบทำให้ปีสุขภาวะของคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง (Health adjusted life expectancy: HALE) แปลว่าจำนวนปีโดยเฉลี่ยที่คนจะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
 
เน้นย้ำว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่มีโอกาสเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องส่วนตัว ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนใกล้ชิด และการทำงาน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายทั้งของตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ
 
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด จะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องใส่ใจสุขภาพ ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่าง พบปะคนอื่นใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น และหากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิด และแยกตัวไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน 


 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอธีระ เผยยอดติดเชื้อรวม ATK ไทยพุ่งอันดับ 7 ของโลก ห่วงผลกระทบ Long COVID
มาใหม่! WHO ประกาศเฝ้าระวัง โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย“BA.4” และ “BA.5” จากเดิม 4 สายพันธุ์
- เปิด 6 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ Long COVID ใครไม่ติดถือว่าโชคดี

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส