หมอนิธิพัฒน์ ชี้ เกณฑ์ UCEP+ สูงไป เสี่ยงโรคลุกลาม แนะไข้ควรอยู่ที่ 38 องศา และไม่รอให้ไข้สูง นานกว่า 24 ชม.

10 มี.ค. 65

หมอนิธิพัฒน์ ชี้ UCEP+ ตั้งเกณฑ์สูงเกินไป เสี่ยงโรคลุกลาม แนะ ไข้ควรอยู่ที่ 38 องศา และไม่รอให้ไข้สูง นานกว่า 24 ชม. ส่วนกรณีข่าวเพื่อนบ้านทางใต้ไฟเขียวฉีดวัคซีนครบแล้วเข้าประเทศไม่ต้องกักตัว นับว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมาก

วันที่ 10 มี.ค. 65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" โดยระบุว่า

ยังไปกันต่อช้าๆ สำหรับยอดผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต มาลุ้นกันว่าจะไปชะลอตามการคาดเดาในกลางสัปดาห์หน้าไหม ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจะชะลอช้าไปกว่านั้นอีกราว 7-10 วัน และน่าจะทะลุแนวต้านที่ 100 ได้ เพราะอัตราการเสียชีวิตในรายใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 40-60% ดังนั้นปัจจุบันเราอยู่ที่ 420 จึงมีความเป็นไปได้ หากการเสียชีวิตกระจายตัวในช่วงเวลาต่างๆ ใกล้เคียงกัน และไม่มีการลงสาเหตุการตายผิดพลาดไปจากเกณฑ์

ฟังข่าวประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเราจะให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือนหน้า พร้อมกับเปิดให้คนเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวถ้าฉีดวัคซีนครบ หากเป็นเช่นนั้นจริงนับว่ากล้าหาญมาก เพราะสถิติปัจจุบันเขายังไม่ถึงจุดพีคดี เหลือเวลาอีกยี่สิบกว่าวันไม่รู้จะเคลียร์ภาระโควิดตกค้าง (backlog) ในประเทศได้ดีแค่ไหน เชื่อว่าภาคการแพทย์ที่นั่นคงไม่สบอารมณ์นักกับโร้ดแม็ปของฝ่ายการเมืองถ้าจริงดังว่า สู้บ้านเราไม่ได้ แม้จะระหองระแหงกันบ้างประสาผัวเมีย แต่ท้ายที่สุดภาคการเมืองและภาคการแพทย์ก็ทนอยู่กันกับโควิดมาได้สองปีกว่า ไม่รู้มีลูกหัวปีท้ายปีตามมาด้วยหรือเปล่า

ที่ไม่สบายใจหน่อยคือ การจะเริ่มใช้ UCEP+ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องทำในช่วงเปลี่ยนผ่านโควิด แต่เกณฑ์ที่จะคัดแยกว่าผู้ป่วยโควิดรายนั้นว่าอาการรุนแรง เพื่อส่งเข้ารับการรักษาฉุกเฉินตามเกณฑ์ UCEP เดิมนั้น มีจุดที่ต้องระวังและติดตามผลการใช้งาน คือ

ข้อแรก กำหนดไว้ว่าต้องวัดไข้ได้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง ตามหลักการใช้จุดตัดเพื่อคัดแยกโรค ถ้าตั้งเกณฑ์สูง ความไวในการคัดแยกจะลดลง แต่ความจำเพาะมากขึ้น การมีไข้สูงในโรคโควิด-19 มีสองความหมาย คือ ตัวโรคโควิดเองรุนแรง หรือ มีการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนโควิด หรือ มีไข้จากโรคพื้นฐานผู้ป่วยแต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย ดังนั้นควรลดเกณฑ์ต่ำลงมาเป็น 38.3 หรือ 38.0 ตามนิยาม SIRS ที่ปัจจุบัน (2021) นำกลับมาใช้คัดแยกผู้ป่วย sepsis and septic shock อีกครั้งแทน quick SOFA หรือจะเอาแบบที่ผมใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านด้วยตัวเองคือ 38.0 ก็จะไวขึ้นอีกหน่อย และไม่ควรรอให้ไข้สูงนานกว่า 24 ชั่วโมงซึ่งโรคจะลุกลามเสียก่อน ควรเป็นนานกว่า 6 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว

ข้อสอง ต้องวัดความอิ่มตัวออกซิเจนจากชีพจรปลายนิ้วแรกรับน้อยกว่า 94% เช่นกัน ถ้าใช้จุดนี้ความจำเพาะในการคัดแยกปอดอักเสบโควิดหรือการติดเชื้ออื่นรุนแรงจะดี แต่ความไวจะลดลง โดยเฉพาะในคนที่ไม่เข้าข่ายมีปัจจัยเสี่ยงโรครุนแรงหรือกลุ่ม 608 แต่อาจมีโรคหรือภาวะอื่นซ่อนเร้นที่ยังไม่เคยวินิจฉัยโดยแพทย์มาก่อน จึงเสนอว่าควรใช้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 94 จะเหมาะสมกว่า อีกทั้งจะช่วยคัดกรองคนที่ปอดอักเสบมากแล้วแต่ไม่มีไข้ และออกซิเจนในเลือดต่ำแล้วแต่ไม่รู้สึกหอบเหนื่อย (happy hypoxemia) ซึ่งไม่ค่อยพบแล้วในยุคเดลต้าและโอไมครอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โควิดวันนี้ วันที่ 10 มี.ค. 65 ป่วยใหม่ 22,984 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) 49,494 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 74 คน
- คกก.โรคติดต่อ ไฟเขียว เปลี่ยน โควิด เป็นโรคประจำถิ่น
- โอมิครอน BA.2 จ่อระบาดแทน BA.1 สธ.พบ แพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า ดื้อวัคซีนขึ้น ยาที่ใช้รักษา โควิดเดลตา ไม่ค่อยได้ผล

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส