ทลายโรงงานไส้กรอกเถื่อน อดีตพนักงานแฉเอาให้ลูกกินทำท้องเสียหวิดตาย (คลิป)

3 ก.พ. 65

กรณีศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Ramathibodi Poison Center เพื่อเตือนภัยเรื่อง "ไส้กรอก" ที่ไม่รู้แหล่งที่มาที่ไป แล้วไปพบว่ามีเด็กกินแล้วป่วย "ภาวะเมทฮีโมโกลบิน" (Methemoglobin) จำนวน 8 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง 3 คน จ.เชียงใหม่ 2 คน จ.เพชรบุรี จ.สระบุรี และกาญจนบุรี อย่างละ 1 คน 

248895

โดยทั้ง 8 ราย มีประวัติกินไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับ อาการของผู้ป่วย คือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาจหมดสติได้ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำ พร้อมเผยภาพตัวอย่างไส้กรอกที่เด็กกินแล้วป่วยอีกด้วย รวมถึงกรมควบคุมโรค ออกมาเตือนผู้ปกครองว่า ต้องซื้อไส้กรอกต้องได้รับรองจาก อย. ไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อหรือไม่ได้มาตรฐาน อาจมีการใช้ "ไนเตรท" ในผลิตภัณฑ์ หลังพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน แนะให้ยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" ปลอดภัยห่างไกลโรค

416470

กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้บุกโรงงานไส้กรอกแห่งหนึ่ง ที่จ.ชลบุรี พบส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงสั่งปิดโรงงานดังกล่าว ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 3 ก.พ.65 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้เดินทางไปยังโรงงานไส้กรอกดังกล่าว ภายในพื้นที่ ซ.บ้านสวน-หนองข้างคอก ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อไปถึงพบว่าโรงงานไส้กรอกดังกล่าวถูกปิดล็อกจากด้านใน จากการสังเกตไม่มีผู้ใดอยู่ภายใน

317332

ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นางแดง (นามสมมติ) อายุ 45 ปี แม่ค้าใกล้โรงงานไส้กรอก กล่าวว่า น.ส.รักทวี หรือ แหม่ม เจ้าของกิจการผลิตไส้กรอก เพิ่งมาเช่าที่ดังกล่าวทำเป็นโรงงานผลิตไส้กรอกประมาณช่วง 3-4 เดือน จากการสังเกตจะมีพนักงานประจำภายในโรงงานไม่เกิน 10 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มญาติของ น.ส.รักทวี ทั้งชายหญิงสลับหมุนเวียนเข้าออก

โดยในตอนแรกที่เขาเปิดโรงงานผลิตไส้กรอก ตนก็เข้าใจว่าโรงงานเปิดถูกต้องตามกฎของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีเครื่องหมาย อย. ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP จึงไม่ได้ใส่ใจอะไร เพราะที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาที่เปิด เจ้าของโรงงาน รวมถึงพนักงานภายในก็มักจะมาอุดหนุนอาหารตามสั่งร้านตนอยู่บ่อยครั้ง จากที่พูดคุยก็อัธยาศัยดี

531066

อีกทั้ง น.ส.รักทวี ยังใจดีเคยให้ไส้กรอกตนมาทอด 1 ถุง แต่เมื่อตนทอดแล้วปรากฎว่าไส้กรอกมีลักษณะแปลก ๆ เหมือนจะใส่สีจนเป็นสีแดงเข้มกว่าไส้กรอกปกติ น้ำมันที่ใช้ทอดจากสีเหลืองกลายเป็นสีแดง อีกทั้งตัวเนื้อไส้กรอกก็เปื่อยมาก ๆ ตนมองแล้วว่าไม่น่าปลอดภัย และกลัวจะเป็นอันตราย จึงไม่ได้ให้ลูกกิน ก่อนจะนำไปเททิ้งทั้งหมด

แต่ในส่วนของขั้นตอนการผลิดนั้น ตนไม่ทราบอะไรมาก เนื่องจากตนไม่เคยเข้าไปดูการผลิตหรือไปดูว่าเขาทำอะไร จึงรู้เพียงแต่ว่าเขาทำไส้กรอกกับลูกชิ้นส่งขายตามสถานที่ต่าง ๆ กระทั่งวานนี้ (2 ก.พ.65) มีเจ้าหน้าที่อย.และตำรวจเดินทางมาตรวจสอบโรงงาน ตนจึงรู้ว่าโรงงานไส้กรอกที่ตกเป็นข่าวว่าเด็กกินแล้วท้องเสีย คือโรงงานไส้กรอกที่อยู่ติดร้านตน 

501803

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็มีเพื่อนบ้านที่เคยเข้าไปทำงานในโรงงานไส้กรอก และได้กลับมาทอดให้ลูกกิน ลูก ๆ ของเพื่อนบ้านก็เกิดอาการถ่ายท้อง ท้องเสีย อาเจียน ต้องส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล รักษาอาการอยู่นานครึ่งเดือน ตนก็ไม่คิดว่าเกิดจากเป็นเพราะกินไส้กรอกของโรงงานดังกล่าว หลังทราบเรื่องตนในฐานะผู้บริโภคก็รู้สึกแย่ อยากให้เจ้าของโรงงานไส้กรอกดังกล่าวเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะหากยังไม่หยุด ผู้บริโภคจะได้รับอันตรายเพราะกินไส้กรอก

611846

หลังจากนั้นทีมข่าวได้พูดคุยกับ นางมด (นามสมมติ) อายุ 30 ปี อดีตพนักงานโรงงานไส้กรอก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยมีโอกาสเข้าไปทำงานภายในโรงงานช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เจ้าของโรงงานได้มาชักชวนตนให้ค่าแรงวันละ 400 บาท ตนเห็นว่าใกล้บ้านจึงไปทำงานแพ็กไส้กรอกใส่ถุงพลาสติก ก่อนเตรียมบรรจุส่งขาย จากการสังเกตภายในโรงงานจะมีพนักงานเพียง 7-8 คน แต่ส่วนเครื่องผลิตนั้น ตนไม่ทราบว่ามีเครื่องอะไรบ้าง

817464

นอกจากนี้ จากการสังเกตขั้นตอนการใส่ส่วนผสม ตนจะเห็นว่าสามีของเจ้าของโรงงาน จะเป็นคนผสม โดยการใช้กระบวยตักส่วนผสมตามสัดส่วนที่เขากะเกณฑ์ด้วยตัวเอง แต่ในตอนนั้นตนยอมรับว่าไม่ได้สนใจอะไรมาก เนื่องจากตั้งไจทำงานในส่วนที่ตนได้รับมอบหมายเท่านั้น เลยไม่มีข้อสงสัย

กระทั้งช่วงต้นเดือน ม.ค.65 เจ้าของโรงงานแบ่งไส้กรอกให้ตนนำกลับบ้านมาทอดให้ลูกกิน แต่เมื่อตนลองทอดแล้ว ตัวไส้กรอกกลับมีลักษณะแปลก ๆ มีสีที่แดงเข้ม เมื่อทอดแล้วน้ำมันกลายเป็นสีแดง ต่างจากไส้กรอกที่เคยซื้อ ตนจึงลองกินแต่ไม่มีอาการผิดปกติ ก่อนจะให้ลูกชายวัย 11 เดือน และ ลูกสาววัย 3 ขวบกิน

262548

จากนั้นในวันที่ 12 ม.ค.65 ลูกชายวัย 3 เดือน เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลว แพทย์วินิจฉัยว่า ลำไส้ติดเชื้อ จึงฉีดยาให้ 1 เข็ม นอนพักที่โรงพยาบาล 5 วัน ก่อนให้กลับมาดูอาการต่อที่บ้าน ซึ่งในเวลต่อมา ลูกสาววัย 3 ขวบ ก็เกิดอาการถ่ายท้อง ท้องเสีย อาเจียนขึ้นมาอีกคน ตนจึงนำส่งโรงพยาบาลชลบุรี เช่นเดียวกับลูกคนเล็ก แพทย์ก็วิฉัยว่าลำไส้ติดเชื้อ ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลนานเกือบครึ่งเดือน จึงสามารถกลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนก็รู้สึกเสียใจ เพราะตนในฐานะผู้เป็นแม่ เห็นลูกน้อยต้องมีอาการแบบนี้ก็รู้สึกแย่ สุดท้ายนี้หากมีโอกาสได้พูดกับเจ้าของโรงงานไส้กรอก ตนอยากให้หยุดการผลิตไส้กรอกต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าทุกคนก็อยากให้ลูกได้กินของดี มีประโยชน์

211997

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 2 ก.พ.65 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ อย. และกองระบาดวิทยาและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลงพื้นที่โรงงานเป้าหมายที่ อ.เมือง จ.ชลบุรี พบน.ส.รักทวี แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ

จากการตรวจสอบภายในโรงงาน มีการผลิตไส้กรอก ลูกชิ้น และหมูยอ แต่วันที่เข้าไปตรวจค้นไม่พบว่ามีการผลิต แต่พบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแล้วอยู่ในถังแช่แข็ง สอบถาม น.ส.รักทวี ยอมรับว่า เป็นผู้ผลิตไส้กรอกตามที่เป็นข่าวจริง แต่หลังเป็นข่าวก็เลิกผลิตทันที 

445076

โดยโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต 11 แรงม้า พนักงาน 8 คน ไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม และไม่เข้าข่ายการขอขึ้นทะเบียนอาหารของ อย. เมื่อตรวจค้นสถานที่ผลิต
พบฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและวัตถุดิบหลายรายการ ไม่มีเครื่องหมาย อย. อีกทั้งสถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP มีข้อบกพร่องหลายเรื่อง

979783

นอกจากนี้ มีการใช้แรงงานคนตักสารไนไตรท์โดยไม่ได้ชั่งตวงหรือวัดตามมาตรฐาน แต่กะเกณฑ์ตักใส่ ๆ ทำให้ปริมาณไนไตรท์เกินค่าความปลอดภัย เมื่อสอบถามเพิ่มเติมพบว่าส่งไปที่ จ.สมุทรสาคร ก่อนจะกระจายสินค้าไปทั่วประเทศมานานแล้ว แต่ไม่ได้ซัดทอดว่ามีที่อื่นอีก ซึ่งก่อนหน้านี้ บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. กองระบาดวิทยา และ สสจ. ในจังหวัดที่มีผู้ป่วย ตรวจสอบต้นตอไส้กรอกพบว่า น่าจะมีแหล่งผลิตที่ จ.ชลบุรี นำมาสู่การตรวจค้นดังกล่าว

851006166085

เบื้องต้นได้สั่งปิดโรงงาน อายัดผลิตภัณฑ์ทั้งหมด พร้อมแจ้งความผิด คือ สถานที่ผลิตไม่ผ่าน GMP ปรับ 1 หมื่นบาท ใช้ฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มี อย.ปรับ 3 หมื่นบาท พร้อมเก็บสินค้าส่งตรวจแล็บเพื่อตรวจหาสารเคมีปนเปื้อน ทั้งไนไตรท์ เบนโซอิกแอซิด และสีผสมอาหาร หากพบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน จะมีความผิดเรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งการให้ สสจ. แต่ละจังหวัดไปตรวจสอบทั่วประเทศ ก็พบอีกหลายแห่ง ซึ่งจะดำเนินการสืบหาแหล่งผลิตต่อไป หากพบเห็นไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย ให้ผู้บริโภคร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ทุบโต๊ะข่าว เป็นกระแส