แจงปิดทางเข้าระบบประปา ไม่เกี่ยวกับแพ้ เลือกตั้งอบต.

2 ธ.ค. 64

หลัง เลือกตั้งอบต. จากกรณีที่เกิดเหตุชาวบ้านกว่า 50 คน เดินทางเข้าที่ทำการ อบต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง เข้าหารือขอความช่วยเหลือเพื่อหาทางออกบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านเรื่องของน้ำประปาหมู่บ้านถูกปิด ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 150 ครัวเรือน 600 คน โดยชาวบ้านระบุนายสุขุม เรืองฤทธิ์ พี่ชายของนางภัทรา สู้ณรงค์ ผู้สมัคร ส.อบต หมู่ 9 ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง นำป้ายระบุข้อความ "ห้ามเข้าที่ดินส่วนบุคคล"และไม้ไผ่ปิดกั้นทางเข้า และป้ายข้อความติดที่เสาไฟมีข้อความว่า "ห้ามใช้สระพักน้ำเด็ดขาด" ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าระบบบ่อน้ำบาดาล มีถังเก็บพักน้ำและเครื่องจักรผลิตน้ำประปาหมู่บ้านตั้งอยู่ มาติดตั้งหลังน้องสาวแพ้การเลือกตั้ง

โดยประกาศเอาไว้ก่อนหน้าเลือกตั้งว่า หากนางภัทราแพ้การเลือกตั้ง ก็จะไม่ให้ใช้พื้นที่ต่อไป โดยที่ผ่านมาชาวบ้านยืนยันว่า ทางเจ้าของที่ดิน ไม่เคยมีการแจ้งกับชาวบ้าน และกับอบต.ล่วงหน้าว่า จะเอาที่ดินคืน ซึ่งมีระบบประปาบาดาลของ อบต.ตั้งอยู่แต่มาก่อนแต่อย่างใด แต่หลังเลือกตั้งซี่งนางภัทราแพ้ มีการนำป้ายมาปิดประกาศดังกล่าวอย่างกะทันหัน ไม่ให้ผ่านเข้าไปที่ระบบประบาบาดาล ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ตามที่นำเสนอข่าว

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ระบบประหมู่บ้าน ที่ตั้ง 127 ม.9 ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งพบว่ามีป้ายโครงการก่อสร้างขุดบ่อบาดาลของ อบต.น้ำร้อนติดตั้งอยู่ในแปลงที่ดินดังกล่าวด้วย โดยนายสุขุม เรืองฤทธิ์ อายุ 60 ปีพี่ชายของนางภัทรา สู้ณรงค์ อายุ 50 ปี ผู้สมัคร ส.อบต.เขต 9 พาผู้สื่อข่าวดูพื้นที่ พร้อมกับแสดงโฉนดที่ดินจำนวน 2 แปลงให้ผู้สื่อข่าวดู โดยโฉนดดังกล่าวระบุชื่อนายสุขุมเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งมีเนื้อที่ติดต่อกัน

นายสุขุม กล่าวว่า ที่ชาวบ้านกล่าวอ้างว่าตนไปประกาศว่าหากนางภัทรา(น้องสาว)แพ้การเลือกตั้ง ส.อบต.นั้นตนยืนยันไม่เป็นความจริง ส่วนสาเหตุที่ต้องปิดไม่ให้เข้าพื้นที่เพราะอยู่ในช่วงโควิด 19 และต้องการให้ทีมนายกอบต.ชุดใหม่เข้ามาเจรจาวางกติกาการใช้พื้นที่ร่วมกัน เพราะที่ดินบริเวณที่ตั้งระบบประปาและสระน้ำ ตนไม่ได้อุทิศให้ราชการแต่อย่างใด แต่อนุญาตให้ใช้ที่ดินกว้าง 20 เมตร ยาว 20 เมตร ซึ่งวางระบบประปาเมื่อปี 2540 ซึ่งตอนนั้นตนมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันนี้ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ทั้งสระน้ำและที่ตั้งระบบประปาเป็นที่ดินสาธารณะไปแล้ว ตนจึงจำเป็นต้องปิดและต้องการทำข้อตกลงร่วมกันกับอบต.ในการใช้พื้นที่อาจจะเป็นในรูปแบบของสัญญาเช่า หรืออื่นๆตามความเหมาะสม

ด้านนางภัทรา บอกว่า ตนและครอบครัวได้ทำทุกอย่างเพื่อสังคมมามากแล้ว แต่เมื่อกระแสข่าวออกไปก็รู้สึกเสียใจ ซึ่งต้องคนต้องเข้าใจว่าช่วงนี้เป็นช่วงโควิด และตอนนี้หมดวาระแล้ว หากเอาสระคืนมาได้ก็จะเอาสระกลับมาเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม ซึ่งน้ำตรงนี้เมื่อก่อนก็สูบน้ำจากสระน้ำมากรองและพักในบ่อน้ำก่อนส่งจ่ายให้ชาวบ้าน เป็นเวลา 2-3 ปี แต่เมื่อเห็นชาวบ้านเดือดร้อนเราก็เห็นใจเพราะน้ำเป็นสนิม ซึ่งก่อนหน้านี้สมัยนายกฯคนก่อนก็มาคุยกับพวกตนว่าขอใช้สระน้ำเพื่อพักน้ำ แต่ตอนนี้นายกอบต.คนเก่าหมดวาระ คนใหม่ก็ยังไม่ได้เข้ามาพูดคุยแต่อย่างไร และกลัวว่าหากเปิดให้เป็นที่สาธารณะนานๆจะกลายเป็นของสาธารณะจริงๆ

ทางพี่ชายบอกว่าเมื่อหมดวาระแล้วก็ขอคืน ซึ่งในการขอคืนสระน้ำและปิดทางเข้าก็ยอมรับว่า ไม่ได้พูดคุยหรือแจ้งทางอบต.และชาวบ้านก่อน และพอเกิดเรื่องเข้าใจว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และไปเกี่ยวโยงในเรื่องการเมืองด้วย ซึ่งจริงๆอยากให้ทางชาวบ้าน กำนัน อบต.เข้ามาคุยกับเราก่อน และชวนกันไปประท้วงที่หน้าอบต.เลย และจากที่ได้ปิดทางเข้าเพราะไม่อยากให้เจ้าหน้าที่นำน้ำมาเติมในสระ เพื่อนำไปใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน เลยต้องปิดทางเข้าก่อน แต่หากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาเปิดระบบประปาหมู่บ้านก็สามารถเข้ามาเปิดได้ตามปกติแต่น้ำไม่มีในระบบ เนื่องจากไม่อนุญาตให้ใช้สระ แต่หากจะแก้ไขอย่างไรนั้นก็อยากให้หลายฝ่ายมาพูดคุยกับพวกตนก่อน และสระตรงนี้จะนำกลับมาใช้ประโยชน์เอง หรือทางอบต.จะมาขอเช่าพื้นที่สระตรงนี้ก็ให้เข้ามาพูดคุย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ดีเอสไอ ส่งสำนวนคดี เสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ ให้ ป.ป.ช. แล้ว
- ควันหลง เลือกตั้งนายกอบต. วังน้ำคู้ คะแนนเท่ากัน ต้องจับสลากวัดดวง
- เลือกตั้งอบต. ขอนแก่น ผู้สมัครคนเดียวแพ้โหวตโน ต้องเลือกใหม่ใน 45 วัน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส