"เนติวิทย์" ชี้โหวตล้มดาวเดือนรัฐศาสตร์ เป็นพื้นฐานประชาธิปไตย ไร้ประโยชน์คัดแค่หน้าตา (คลิป)

6 พ.ย. 61
จากกรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมลงประชามติ “เห็นด้วยหรือยกเลิกกิจกรรมดาวเดือนและดาวเทียมของคณะรัฐศาสตร์” วันที่ 5 พ.ย. 61 นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรม นิสิตของคณะรัฐศาสตร์ ผู้เห็นด้วยให้มีการยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว เปิดเผยว่า การยกเลิกกิจกรรมดาวเดือนเกิดจากแนวคิดของตน และเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง จำนวน 120 คน ได้มีการลงชื่อร่วมกัน อยากให้มีการยกเลิกกิจกรรมที่มีมาเกือบ 10 ปี ในคณะรัฐศาสตร์ เพราะมองว่าเป็นการอคติทางเพศ และมีการแบ่งแยกเกณฑ์ทางหน้าตา อยากให้สโมสรนิสิตฯ หันไปจัดกิจกรรมอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น กิจกรรมชมรมดนตรี ชมรมถ่ายรูป เป็นต้น ซึ่งยอมรับว่าทุกคนต่างก็มีสถานะเป็นดาวเดือนอยู่ภายในคณะรัฐศาสตร์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีคนมากำหนดว่าใครต้องเป็นดาวหรือเป็นเดือน
นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ซึ่งการยกเลิกครั้งนี้ ต้องขอบคุณคณะรัฐศาสตร์ และสโมสรนักศึกษาที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยอย่างจริงจัง และอาศัยรูปแบบประชาธิปไตยเข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็นและลงประชามติ แต่สำหรับการยกเลิกกิจกรรมตามความเข้าใจของตนเอง เชื่อว่าจะเป็นการยกเลิกเพียงแค่ปีนี้ปีเดียวเท่านั้น แต่เมื่อมีการตัดสินใจไปแล้ว ก็คาดว่าอาจจะมีแนวทางการยึดถือระยะยาวต่อไป ซึ่งหากใครจะนำกลับมาอีกครั้ง ก็ต้องระบุเหตุผลที่เพียงพอ ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่กลับมาอีกแล้ว แต่ในอนาคต หากรุ่นน้องเห็นว่ากิจกรรมประกวดเดือนดาวยังคงสำคัญ ก็สามารถกลับมาจัดได้อีกครั้ง เพราะการลงประชามติครั้งนี้ไม่มีผลผูกขาดระยะยาว
บรรยากาศการลงประชามติ
ส่วนกรณีที่มองว่าดาวเดือนของคณะ เป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยนั้น นายเนติวิทย์ มองว่า การเชื่อมความสัมพันธ์ มีอะไรมากไปกว่ายกย่องคนหนึ่งคน ซึ่งคนที่เข้าร่วมประกวดไม่เพียงแต่โชว์ดีที่หน้าตา แต่สามารถสร้างผลงานให้กับคณะได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ เชิงวิชาการ และยอมรับว่าการเชื่อมความสัมพันธ์ในยุคสมัยนี้ สามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ผ่าน Facebook ก็ได้ หรือแม้กระทั่งบางคนยังคบแฟนเป็นเด็กธรรมศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางด้วยคนที่ดาวและเดือนหรือดาวเทียม
บรรยากาศการนับคะแนน
นายเนติวิทย์ กล่าวต่อว่า ช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมประกวดดังกล่าว จนกระทั่งได้รับรางวัล Popular Vote ให้เป็นเดือนของคณะ ส่วนตัวจึงเห็นว่าไม่เห็นจะเกิดประโยชน์ใด ๆ มีแต่เสียเวลา ไม่ได้พัฒนาสติปัญญา ไม่ได้ทำให้คนที่เข้าร่วมเก่งขึ้นมาแต่อย่างใด บางครั้งต้องจำยอมเสียสละเวลาเรียนไปทำกิจกรรมเพื่อคณะ เช่น การถือพานไหว้ครู หรือกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งที่เป็นความจำใจ ตนเองเชื่อมั่นว่า วันนี้จุดเริ่มต้นของคณะรัฐศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลง และยุติกิจกรรมประกวดเดือนดาวและดาวเทียม อนาคตหลังจากนี้ คณะอื่นก็จะยกเลิกตาม เพราะสังเกตได้จากการแชร์ มีคณะอื่นเข้ามาแสดงความคิดเห็น และแชร์เรื่องราวดังกล่าวออกไป พร้อมทั้งมีอีกหลายมหาวิทยาลัย ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ที่สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก เริ่มรู้สึกว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีต่อไป ซึ่งมันหมดยุคหมดสมัยไปแล้ว
นายนันทวัฒน์ หงษ์แก้ว หรือ ก๊อต เดือนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ด้าน นายนันทวัฒน์ หงษ์แก้ว หรือ ก๊อต เดือนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปีการศึกษา 2560 เปิดเผยมุมมองส่วนตัวว่า ไม่ได้สร้างความเสียหายใด ๆ และต้องย้อนดูวัตถุประสงค์หลักของการจัดประกวดครั้งนี้ว่าจัดขึ้นเพื่ออะไร และการประกวดเดือนดาวและดาวเทียม ก็มีเพื่อใช้สำหรับสายสัมพันธ์กับคณะรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งกิจกรรมนี้ เรียกว่า “สายสัมพันธ์สิงห์ดำสิงห์แดง” ซึ่งหากวันหนึ่ง ไม่มีกิจกรรมจัดประกวดเดือนดาวและดาวเทียมแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมอื่นที่สามารถจัดทดแทนได้ เช่น กีฬา นันทนาการ งานวิชาการ เป็นต้น พร้อมย้ำว่าการยกเลิก ไม่ได้สร้างความเสียหายใด ๆ ให้กับคณะ ซึ่งหากยังมีจัดต่อก็ไม่เสียหาย เพราะคนเหล่านี้ยังเป็นตัวแทนคณะ เข้าร่วมกิจกรรมสายสัมพันธ์ และดาวเดือนคณะก็ไม่เคยมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าเพื่อนร่วมรุ่น

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ