จากกรณีเกิดเหตุ แผ่นดินไหว ศูนย์กลางในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 ก.ม. เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และ กทม. ที่เกิดเหตุการณ์ ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างเกิดถล่มลงมา เป็นเหตุทำให้มีคนงานบาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิตจำนวนมาก
ทั้งนี้เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 13 พ.ค. 68 ทางกรุงเทพมหานคร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 109 รูป และพิธีสวดพระพุทธมนต์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้สูญหาย และผู้เสียชีวิต จากอาคาร สตง. ถล่มดังกล่าว โดยมี นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณชั้น 3 ภายในอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
นายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังจบพิธีทำบุญในช่วงเช้าวันนี้ว่า สำหรับการเตรียมคืนพื้นที่ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ทาง กทม. ก็ได้พูดคุยและหารือกับ สตง. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร หลายหน่วยงานก็เริ่มถอนกำลังออกจากพื้นที่ไปบ้างแล้ว ถือว่าทุกคนทำหน้าที่ได้ดีที่สุด หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของเจ้าของพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการต่อไป
โดยหลักๆ ที่ได้พูดคุยกับ สตง. ก็พูดคุยกันเรื่องของความรับผิดชอบว่าใครจะทำอะไร อย่างไรต่อ หากทาง สตง. ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสาธารณะ หรือกล้อง CCTV ต่อเนื่อง ก็ขอให้แจ้ง แต่ก็เป็นห่วงกองเศษเหล็กด้านข้าง กลัวว่าจะมีคนไปหยิบเศษเหล็กไปขาย
ส่วนช่วงทำบุญก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าฯ สตง. บ้าง แต่ก็ไม่ได้คุยอะไรกันมาก แค่ย้ำว่า “มีอะไรให้ช่วยก็บอกได้เลย กทม. พร้อมสนับสนุน และยินดีที่จะช่วย”
ส่วนญาติผู้ประสบภัยที่ยังรออยู่ เขาก็เข้าใจ และยังมีบางคนอาจจะยังรอพิสูจน์อัตลักษณ์ ตัวเองก็ได้บอกกับญาติไปแล้วว่า ทางนิติเวชเขามีเบอร์โทร สื่อสารได้ ไม่ต้องไปนั่งคอยที่นิติเวช จะได้ไปดำเนินชีวิตต่อ ส่วนยอดตัวเลข ไม่สามารถตอบได้ ว่ายังมีใครบ้างที่รอ แต่ทุกคนก็ทำใจแล้ว และเราก็จะช่วยเหลือให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า ภารกิจของ กทม. ตลอด 40 กว่าวัน ถือว่าสมบูรณ์ เรียบร้อยดีหรือไม่ นายชัชชาติ ระบุว่า ก็ต้องถอดบทเรียน และต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือ กทม. เป็นแค่เพียงส่วนเล็กๆ แต่ได้ทุกคนที่มาร่วมมือร่วมใจกัน โดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ถือเป็นสิ่งที่ดี และถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพราะเมื่อถึงเวลาวิกฤต เราก็มาช่วยเหลือกัน เพื่อให้การทำงานลุล่วง ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ รวมไปถึงทางยูซ่าไทยแลนด์ ที่อยู่ในระดับมีเดียม แต่เทียบกับต่างชาติ ถือว่าอยู่ในระดับเฮฟวี่ เราเองก็ควรจะมีเป้าหมายที่จะมีเวลาพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น
ส่วน กทม. เรายังขาดเรื่องของโดรน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัก แต่ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชน
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทาง กทม. จะมาดูเรื่องค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อ เพราะว่าอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือ เขาก็มีค่าใช้จ่าย ทาง กทม.ก็อยากตอบแทน ไม่ใช่ว่าเราจะให้เอกชนอย่างเดียว ซึ่งก็ให้ทาง รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไปดูเรื่องของค่ารื้อถอนตามหลักเกณฑ์ ว่าเราสามารถใช้งบจากทาง ปภ. มาจ่ายได้หรือไม่ รอสรุปตัวเลข เพื่อชดเชยที่เขาเสียสละให้อยู่
Advertisement