จากกรณี สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ประสบปัญหาในการทำงาน หลังพบว่าปริมาณงานกับกำลังพลที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกัน จนทำให้งานสอบสวนของโรงพักล้นเกินกำลังของพนักงานสอบสวน กลายเป็นความเครียดสะสม ก่อนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันหลายราย บางรายถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ค. 68 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก 1 ในพนักงานสอบสวนที่มีอาการป่วยซึมเศร้า นอนไม่หลับ กินไม่ได้ อยากทำร้ายตัวเอง
โดยแพทย์จากกลุ่มงานจิตเวช สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ประเมินว่า มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง และมีอาการโรคจิต ซึ่งพนักงานสอบสวนรายนี้ มีอายุเพียง 28 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า มีพนักงานสอบสวนอีก 3 ราย มีอาการป่วยเช่นเดียวกัน แม้กระทั้งหัวหน้างานสอบสวน และตัวผู้กำกับสถานีเอง ก็มีภาวะเครียดจากสถานการณ์นี้
จากการสอบถามพนักงานสอบสวนคนหนึ่ง ทราบว่า เริ่มทำงานในตำแหน่งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 68 จากการที่ตนมีอาการป่วยซึมเศร้ามาก่อนทำให้งานสอบสวนดูยากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเย็น ที่รับคดีแล้วมีอาการดิ่งลงจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ หลังมีอาการตนได้ปรึกษาหัวหน้างานว่า ตนมีอาการป่วย หัวหน้างานได้เข้ามาช่วยในเรื่องทำคดี และตนสามารถเข้าไปปรึกษาในส่วนงานที่ติดขัดได้
วันนี้แพทย์นัดตรวจ เนื่องจากแพทย์แจ้งว่าตนมีอาการแย่ลง มีทั้งความเครียดร่วมกับซึมเศร้า พอมาเจองานสอบสวนที่มีความเครียด เลยทำให้อาการแย่ลง ถ้ามีพนักงานสอบสวนมาช่วย อาการป่วยอาจดีขึ้น ซึ่งแพทย์แนะนำให้ตนลาออก ตนอยากได้คนมาช่วยทำงานที่สถานีตำรวจมากขึ้น เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำงานได้ดีขึ้น เพราะปัญหาตอนนี้ปริมาณงานมีมาก แต่พนักงานสอบสวนมีไม่เพียงพอ
ด้าน พ.ต.อ.พิสุทธิ์ จันทรสุวรรณ ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ กล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมทั้งโรงพัก กำลังพลขาดไปประมาณครึ่งหนึ่ง จากอัตราที่อนุญาต โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนขาดมากที่สุด จนถึงขั้นวิกฤต สภ.รัตนาธิเบศร์ต้องมีพนักงานสอบสวน 29 นาย แต่มีนายตำรวจที่เข้าเวรทำงานจริงเพียง 11 นาย มีพนักงานสอบสวนป่วย 4 นาย
หลังจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนป่วย มี 1 คนที่มีอาการรุนแรง พอพนักงานสอบสวนป่วยประสิทธิภาพในการทำงานบริการประชาชนได้ไม่ทั่วถึง อาการที่ตนเห็นพนักงานสอบสวนป่วย เนื่องจากเห็นปริมาณคนมาแจ้งความเกินกว่า 100 คน พนักงงานสอบสวนบางคนเก็บตัวจนผิดปกติ ตนจึงได้ติดต่อจิตแพทย์มาตรวจ ซึ่งตนเห็นลูกน้องที่ทำงานอยู่ หลังจากประชาชนมาแจ้งความบางช่วง ตนจะเห็นพนักงานสอบสวนเอาหัวเข้าหากำแพง มีอาการเครียดมากจนตนเป็นห่วง
พ.ต.อ.พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ตามอัตรากำลังพนักงานสอบสวนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ พนักงานสอบสวน 1 คน รับคดีได้ 70 สำนวนต่อคนต่อปี ปัจจุบันที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ เฉลี่ยพนักงานสอบสวนรับคดีประมาณ 200 กว่าต่อคนต่อปี ไม่รวมคดีออนไลน์ซึ่งถ้ารวมคดีออนไลน์ที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ ถือว่าเป็นอันดับ 5 ของประเทศ รับประมาณเกือบ 4,000 คดีต่อปีคิดเป็นต่อพนักงานสอบสวนประมาณ 500 คดีต่อตนต่อปี
ที่นี่มีปัญหามาตลอดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ตนได้ส่งเรื่องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อหาทางแก้ปัญหา ขอกำลังสนับสนุน ตนเองก็เครียด ลูกน้องก็เครียด เพราะเวลาเกิดปัญหา ตนก็ต้องรับผิดชอบตามลูกน้อง ส่งผลให้เกิดตามอัตรากำลังพลทั้งสถานีต้องมี 223 นาย ปัจจุบันมี 150 นาย ส่วนที่ไม่มีการบรรจุมา ให้เป็นอัตราว่าง เป็นปัญหาหลักที่อัตรากำลังพล ไม่เหมาะสมตามที่เปิดไว้
พ.ต.อ.พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ตนรับตำแหน่งที่นี่ พบปัญหาเรื่องพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอ และได้ทำรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นแล้วเ พื่อขอเพิ่ม ปัจจุบันลูกน้องมีอาการป่วยแย่ลง ตนก็เครียดไม่สามารถบริการประชาชนได้ ทำให้เกิดปัญหาในด้านอื่นๆ ตามมาประชาชนไม่พึงพอใจ คดีล่าช้า ตำรวจถูกร้องเรียนตามมา ตนก็ไม่สบายใจ อยากทำงานให้มีประสิทธิภาพ บริการประชาชนให้ดีที่สุด ตอนนี้ตำรวจเองสุขภาพแย่ตึงเครียดเจ็บป่วย จนถึงมีภาวะฆ่าตัวตาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มาติดต่อราชการตนเองก็มีอาการเครียด แต่ก็ต้องสู้เพื่อลูกน้อง และดูแลประชาชน ซึ่งตนเองไม่กล้าตรวจสุขภาพจิต กลัวเป็นโรคประสาท
การแก้ปัญหาเรื่องกำลังพล เพื่อช่วยพนักงานสอบสวนแบบเร่งด่วน ต้องสำรวจกำลังพลในภาพรวมทั้งหมด ทั้งระดับโรงพัก ระดับจังหวัด ระดับภาคดูว่ามีกำลังพลที่ยังไม่มาปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน ต้องนำมาปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดแล้วใช้วิธีเกลี่ยกำลังพลไปตามปริมาณงาน เป็นการแก้เฉพาะหน้า ส่วนการแก้ไขจริงๆ นั้นต้องรับพนักงานสอบสวนให้ครบตามจำนวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุมัติกรอบตำแหน่งไว้ จะสามารถทำงานได้อย่างมึประสิทธิภาพ ตามที่ได้มีการวิจัยไว้การบรรจุแต่งตั้งต้องรับพนักงานสอบสวนเข้ามาเต็มอัตราดูแลขวัญกำลังใจและสวัสดิการในการทำงานให้มากกว่านี้เพื่อเป็นแรงจูงใจเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพผลที่ตามมาประชาชนจะเกิดประโยชน์สูงสุด
Advertisement