Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ช็อก! เงินเทศบาลอุบลล่องหน 58 ล้าน แฉไอ้โม่งโกงผ่านช้อปปี้เค้น 10 ปากล่า (คลิป)

ช็อก! เงินเทศบาลอุบลล่องหน 58 ล้าน แฉไอ้โม่งโกงผ่านช้อปปี้เค้น 10 ปากล่า (คลิป)

21 พ.ย. 65
18:27 น.
แชร์

จากกรณีนายอาทิตย์ คูณผล อายุ 66 ปี รองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ได้รับมอบอำนาจจาก น.ส.พิศทยา ไชยสงคราม นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ให้มาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งได้โอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย ประเภทออมทรัพย์ เลขที่ 321-1-01278-8 และบัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 321-6-01456-8 ชื่อบัญชีเทศบาลนครอุบลราชธานี ไปเข้าไประบบช้อปปี้ เลขที่ KT 2093 รวมจำนวน 2,029 ครั้ง โดยมียอดการโอนตั้งแต่หลักพันบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ตั้งแต่วันที่ 1-14 พ.ย. 65 รวมเป็นเงินกว่า 39,042,839 บาท สงสัยว่าน่าจะมีการโจรกรรมข้อมูลบัญชีธนาคารเพื่อลักลอบทำธุรกรรมดังกล่าว

305807

ต่อมา น.ส.พิศทยา ไชยสงคราม นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี ได้มอบอำนาจให้ปลัดเทศบาลนครอุบลฯ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกองคลังและผู้อำนวยการส่วนพัฒนารายได้และนิติกร 2 คน เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สทอ.) หรือตำรวจไซเบอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้ทำธุรกรรมการเงิน หรือเป็นการโจรกรรมข้อมูลบัญชีธนาคาร เพื่อลักลอบทำธุรกรรมดังกล่าว เนื่องจากเทศบาลไม่เคยทำธุรกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านช้อปปี้แต่อย่างใด

260192

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. มีรายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบของตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สทอ.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืออุบลราชธานี โดยเรียกเจ้าหน้าที่เทศบาลนครอุบลฯ ประกอบด้วย นายอัมพล ทองพุ ปลัดเทศบาลนครอุบลฯ, ผอ.กองคลัง, หัวหน้าส่วนการคลัง และเจ้าหน้าที่การเงิน รวมถึงพยานบุคคล มาสอบปากคำ พร้อมให้นำหลักฐานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงระเบียบแนวทางปฏิบัติในเรื่องการเงิน รายชื่อคณะกรรมการควบคุมรายงานการเงิน มาสอบปากคำที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี

861045

ล่าสุดวันที่ 21 พ.ย. 65 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางไปติดตามเรื่องดังกล่าวที่สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี โดยบรรยากาศในช่วงเช้า พนักงานส่วนการคลังของทางเทศบาลฯยังคงทำงานกันปกติ

918374

นายอาทิตย์ คูณผล อายุ 66 ปี รองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี พาทีมข่าวไปดูในห้องบัญชีของสำนักงาน ที่ตำรวจได้มีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะไปจำนวน 10 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของบุคคลที่ตำรวจเรียกตัวไปสอบเมื่อวันที่ 19 พ.ย. อีกจำนวน 8 เครื่อง ซึ่งจากการเดินสำรวจในห้องดังกล่าว มีพนักงานราชการ ทำงานในส่วนการคลังของทางเทศบาลกว่า 60 คน

723442

โดยรายชื่อตามข้อมูลที่ตำรวจเรียกตัวไปสอบปากคำทั้งหมด 10 ปาก คือ 1.นายอาทิตย์ คูณผล รองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี 2.นายอัมพล ทองพุ ปลัดเทศบาลนครอุบลฯ 3.นางสาวสินีนาฏ ปาทาน หัวฝ่ายการเงินการบัญชี 4.นางสาวปราณี นามจำปา นักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ 5.นางสาว ภัทรินทร์ ศุภสุข นักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ 6.นางสาวกัญญาภรณ์ เติมสุข ผู้ช่วยนักวิชาการการเงินและบัญชี 7.นางสาวพยอม โอภาส หัวหน้าฝ่ายผลประโยชน์และทะเบียนพาณิชย์ 8.นางสาวอรุวรรณ์ โอชา นักวิชาการจัดเก็บชำนาญการ 9.นางคุนัญญา ผอ.ส่วนพัฒนารายได้ 10.นาง มาลี ตัณฑิกุล ผอ.สำนักคลัง

สำหรับเรื่องไทม์ไลน์ การพบว่ามีเงินออกไปจากบัญชีของเทศบาลฯจำนวนมาก เริ่มต้นมาจากการตรวจสอบการเงินของทางเทศบาลฯ กับทางผู้อำนวยการสำนักการคลังของเทศบาลฯ พบว่าบัญชีรายรับรายจ่ายของบัญชีรายวันไม่ตรงกันกับบัญชีที่มีการสรุปเป็นรายเดือน ที่มียอดเงินหายไปจำนวน 29 บาท จนกระทั่งตนเองสั่งให้ทางผู้อำนวยการ ตรวจสอบไล่บัญชีย้อนหลังดูทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. - 14 พ.ย. พบว่ามีเงินในบัญชีของธนาคารกรุงไทย ที่เป็นบัญชีแบบกระแสรายวัน บัญชี 321-6-01456-8 ที่มีไว้จ่ายเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำเทศบาลฯ มีเงินออกจากบัญชีไปเป็นรายนาที ในวันที่ 1 - 14 พ.ย. ครั้งละตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท จนถึง 10,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 39,042,839 บาท จึงมีการระงับบัญชีและเดินทางไปแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองอุบลราชธานี และแบ่งข้าราชการอีกส่วนไปร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากตำรวจไซเบอร์

561500

จากนั้นในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พ.ย. ทางเทศบาลฯได้มีการตรวจสอบบัญชีเงินที่หายไปอีกครั้ง และไปพบว่ามีเงินออกไป ในช่วงวันที่ 13 - 31 ตุลาคมอีก 2,721 ครั้ง รวมเป็นจำนวนเงิน 19,515,131 บาท รวมทั้งสิ้นเงินที่หายไป ระหว่าง เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เงินหายออกไปจากบัญชีทั้งหมด 58,557,970 บาท จึงมีการแจ้งความกับตำรวจเป็นรอบที่สอง

หลังจากนั้นทางตำรวจก็ได้มีการเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องกับการเงินในบัญชีดังกล่าว ไปสอบปากคำทีละคน โดยมีการตรวจนึงคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ จำนวน 10 เครื่อง พร้อมกับโทรศัพท์มือถือ 8 เครื่องของพนักงานราชการและบัญชีธนาคารส่วนตัว ของแต่ละคนไปตรวจสอบ วันที่ 16 พ.ย. ตนเองได้ดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ ทำหนังสือรายงานไปทางจังหวัด รายงานกระทรวงมหาดไทย ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรายงานไปยังสำนักตรวจเงินแผ่นดินตามลำดับ จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในเทศบาลฯ

682544

ซึ่งตั้งแต่เกิดเรื่อง ตนเองพยายามเร่งตรวจสอบอีกด้วยว่า เงินในบัญชีดังกล่าว มีปัญหาตั้งแต่ยุคก่อน ๆ ที่เข้ามาบริหารหรือไม่ แต่ก็ยังไม่พบการทุจริตในบัญชีดังกล่าวเกิดขึ้น และพบแค่ว่าเงินจำนวนดังกล่าว เริ่มไหลออกจากบัญชีไปตั้งแต่ วันที่ 13 ต.ค. ก็คือในการรับผิดชอบของคณะทำงานปัจจุบันของทางเทศบาลฯ ที่ตนเองเป็นฝ่ายดูแลโดยตรงเกี่ยวกับการเงินในคลัง

958744

นอกจากนี้ ในการสอบสวนเบื้องต้น ยังไม่พบพนักงานคนไหนที่ตำรวจเรียกไปสอบจนมีอาการเครียดหรือมีท่าทางผิดปกติ แต่ถ้าหากถามว่า ตอนนี้ตนเองสงสัยใครมากที่สุด ขอไม่ออกความเห็น เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนและสืบสวนของทางตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญก็ยังฟันธงไม่ได้ว่าเงินดังกล่าว หายไปจากการถูกแฮกข้อมูลหรือเป็นการโกงของฝีมือคนในสำนักงานเทศบาลฯ ซึ่งสวนตัวเชื่อว่าการสอบสวนหาข้อเท็จจริง คงจะไม่เกิน 2 สัปดาห์ ยืนยันทางเทศบาลฯ ไม่เคยปกปิดข้อมูลกับสื่อและชาวบ้าน และขอให้เรื่องทั้งหมดเป็นการทำตามขั้นตอนของกฏหมาย หากเรื่องทั้งหมดสุดท้ายเป็นการโกงของบุคคลในเทศบาลฯ ทางหน่วยงานก็พร้อมจะออกมาชี้แจงและรับผิดชอบกับสังคม เนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นเงินหลวงที่ไม่มีใครนำไปใช้เป็นการส่วนตัวได้อยู่แล้ว

ขณะเดียวกันวันนี้เมื่อเวลา 13.30 น. มีทางเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เดินทางมาติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว กับ พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ คงศักดิ์ตระกูล ผกก.สภ.เมืองอุบลราชธานี การพูดคุยถึงความคืบหน้า ทางเจ้าหน้าที่และทางผู้กำกับใช้เวลาในการแลกข้อมูลกันประมาณ 2 ชั่วโมง ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.จะต้องเดินทางไปตรวจสอบที่ สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี

416568

พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตภาครัฐ 2 ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงการทุจริต กรณีการจ่ายเงินของส่วนราชการ ผ่านระบบ KTB บอกว่า วันนี้ที่ลงพื้นมาตรวจสอบ ก็ได้ความคืบหน้าเยอะมาก แต่ต้องขอเก็บไว้เป็นความลับก่อน ซึ่งเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ ว่าเงินที่หายไปจากบัญชีของสำนักงานเทศบาลเมืองอุบลฯ หายไปอย่างไร โดยเคสนี้มีความพิเศษกว่าเคสที่ให้ข้อมูลกับทางอมรินทร์ ทีวี ไปก่อนหน้านี้ถึงการทุจริตเงินหลวงจากข้าราชการรายบุคคลทั่วประเทศ คือการโอนเงินซับซ้อน ที่มีการสั่งซื้อของออนไลน์ผ่านระบบบัญชีของการเงินเทศบาล และมีบุคคลเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายคน

ตอนนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเงินที่หายไปจากเทศบาลนครอุบลฯ เกิดจากการทุจริตของรายบุคคลหรือไม่ และคงต้องรอเอกสารชี้แจงเส้นทางการเงินของ ระบบการสั่งซื้อออนไลน์ และเส้นทางการเงินของธนาคารให้ชัดเจนว่าเงินดังกล่าวไปเข้าบัญชีใคร

กรณีการจ่ายเงินของส่วนราชการ ผ่านระบบ KTB ถึงการทุจริตของพนักงานราชการทั่วประเทศ ที่สร้างความเสียหายไปแล้วหลายร้อยล้านบาทคือ

1.ทำการแก้ไขในระบบ โดยโอนเงินจำนวน 13,000,000 บาท ของสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร เข้าบัญชีของตัวเอง จนกระทั่งหลังสุดหัวหน้า ฝ่ายการเงินเกิดข้อสงสัย จึงได้ตรวจสอบและพบว่าเจ้าหน้าที่ได้ทุจริตเงินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า
6 เดือนแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือน กรกฎาคม 2565

2.เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี (ส่วนกลาง) โอนเงินฝากคลังของกรมฯ เข้าไปยังบัญชีส่วนตัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจากเงินกองทุนคนพิการ 13,000,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคม เงินสงเคราะห์คนยากไร้ 45,000,000 บาทและความมั่นคงของมนุษย์ ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน - 12 กันยายน 2564 รวม 58,000,000 บาท

3.พนักงานการเงิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำชื่อบุคคลใกล้ชิดเข้ามาใส่ในบัญชีผู้ขายของหน่วยงาน และทำเอกสารเท็จเพื่อโอนเงินเข้าบัญชี โดยจะเลือกบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว และไม่อยู่ในงบประมาณ เช่น เงินประกันสัญญา ปี 2564 จนได้รับความเสียหาย จำนวนทั้งสิน 40,000,000 บาท

4.เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน เทศบาลตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล จังหวัดกำแพงเพชร โอนเงินเข้าบัญชีตัวเองจำนวน 8,692,245 บาท ซึ่งการโอนเงินดังกล่าว พนักงานคนดังกล่าว เริ่มทำตั้งแต่ 1 ธ.ค.64 - 8 มี.ค.65 โดยการโอนเงิน ผ่านระบบ KTB ทั้งสิ้น 14 ครั้ง

5.นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ระดับชี 8 (ส่วนกลาง) ทุจริตเงินจากการแจกจ่ายงบกองทุนไปสู่เด็กยากไร้ในโครงการ "Direct credit" หรือ การจ่ายเงินผ่านเลขบัญชีโดยตรง ไม่แสดงชื่อเจ้าของบัญชีที่เป็นระบบจ่ายเงินราชการ เข้าบัญชีผู้ทุจริตจำนวน 8 ราย ในการโอนผ่านระบบ KTB ออนไลน์ จำนวนเงิน 87,993,372 บาท

6.พนักงาน สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โอนเงินผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และพบหลักฐานเท็จจากการปลอมเช็คและการเบิกจ่าย ผ่านใช้รหัสผ่านในระบบและสมาร์ทการ์ดของผู้มีอำนาจ มีความเสียหาย จำนวน 40,000,000 บาท

7.นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี มอบรหัสให้พนักงานการเงิน และพบว่ามีการเบิกเงินของเทศบาลระหว่าง เดือนพฤษภาคมกับมิถุนายน 2565 ประมาณ 47 ครั้ง ออกจากบัญชีของเทศบาล จำนวน 31,700,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตัดสินของศาล เนื่องจาก พบการทุจริตจากรายบุคคลก็คือพนักงานการเงิน

8.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ภายหลังตรวจสอบพบเงินในบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.แม่คะตวน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เงินหายไปกว่า 26 ล้านบาท เบื้องต้นพบว่าอาจมีพนักงานส่วนตำบล สังกัดกองคลัง อบต.แม่คะตวน ยักยอกเงินองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมานานนับ 1 ปี ซึ่งในชั้นต้นทางพนักงานสอบสวน สภ.สบเมย จะได้ตรวจสอบรายงานทางการเงินเข้า-ออกบัญชีของผู้ถูกกล่าวอ้าง และขอเอกสารหลักฐานเส้นทางการเงินจากธนาคารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประกอบเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีส่งต่อให้กับทาง ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการ ทำผิดกฎหมายและวินัย ป.ป.ช. ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตำรวจ

9.วันที่ 8 เดือน สิงหาคม 2565 พบมีการทุจริตโดยการโอนเงินออกจากบัญชีขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลท่สัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โอนเงินในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 และวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 เข้าบัญชีพนักงานราชการ จำนวนเงิน 11 ล้านบาท ซึ่งพนักงานรายนี้ มีตำแหน่ง เป็นนักวิชาการเงิน ยอมรับว่า ได้ติดเกมส์พนันออนไลน์ และรับสารภาพว่าได้โอนเงินของทางราชการ 3 รหัส ออกไปผ่านบัญชี KTB

และ 10.คือที่สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี อยู่ระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริง

 

 

Advertisement

แชร์
ช็อก! เงินเทศบาลอุบลล่องหน 58 ล้าน แฉไอ้โม่งโกงผ่านช้อปปี้เค้น 10 ปากล่า (คลิป)