เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศพระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ภายใต้รัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยมีการปรับตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญหลายตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือการแต่งตั้งนายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทนนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่ามกลางสถานการณ์สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ หนี้สินครัวเรือนพุ่งสูง ความไร้เสถียรภาพด้านรายได้ของเกษตรกร และระบบการผลิตที่ยังกระท่อนกระแท่น การแต่งตั้งคณะทำงานใหม่จะสร้างความหวังให้ประชาชนหรือเพียงแค่รัฐมนตรีรีรัน
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นบุตรชายของนายอิทธิ ศิริลัทธยากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นฐานการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ และปริญญาโท ด้านการจัดการการตลาดจากประเทศอังกฤษ เริ่มต้นเส้นทางการเมืองในนามพรรคเพื่อไทย และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลชุดก่อน การกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีเต็มตัวครั้งนี้ จึงไม่ใช่บทบาทใหม่ หากแต่เป็นบทพิสูจน์ว่าเขาจะสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ดีให้เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้หรือไม่
ด้านนายอัครา พรหมเผ่า น้องชายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นฐานจากภาคเอกชนและการบริหารท้องถิ่น เคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และมีบทบาททางการเมืองระดับภูมิภาคมาอย่างยาวนาน การก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงถือเป็นการขยับเข้าสู่การบริหารเชิงนโยบายระดับประเทศอย่างเต็มตัว
ประเทศไทยมีเกษตรกรกว่า 10 ล้านครัวเรือน แต่กลับยังเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเปราะบางที่สุดในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ต่ำ ต้นทุนสูง หรือการขาดอำนาจในการต่อรอง การจัดการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคนี้จึงไม่อาจวัดจากคำแถลงหรือภาพลักษณ์เท่านั้น หากแต่ต้องวัดจากผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการยกระดับชีวิตเกษตรกร
ภารกิจเบื้องหน้าของนายอรรถกร และนายอัครา จึงไม่ใช่เพียงการบริหารให้ผ่านวาระ แต่เป็นการพิสูจน์ว่า คนรุ่นใหม่ในการเมืองไทยจะกล้าเผชิญหน้ากับระบบราชการแบบเดิม กลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม และโครงสร้างที่กดทับเกษตรกรได้มากน้อยเพียงใด หากทำได้ นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของภาคเกษตรกรรมไทยอย่างแท้จริง แต่หากยังวนซ้ำกับนโยบายและระบบเก่า คำว่า "รัฐมนตรีคนรุ่นใหม่" ก็อาจเป็นเพียงฉลากใหม่ที่ติดบนขวดเดิมอีกครั้ง
Advertisement