ประวัติพระยาแรกนา และเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี ๒๕๖๘
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น
ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๘ เป็นบุตรของ นายหยด อินสกุล และนางกิ่ง อินสกุล สมรสกับ นางสาวสมลักษณ์ ตัญญะวังรัตน์ มีบุตร ๒ คน คือ นายภานรินทร์ อินสกุล และ นางสาวนวพรรณ อินสกุล
ประวัติการศึกษา
• พ.ศ. ๒๕๓๓ ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์สหกรณ์) วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา
• พ.ศ. ๒๕๔๕ ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยณิวัฒนา (ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น)
• พ.ศ. ๒๕๖๗ ปริญญาเอก วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ประวัติการฝึกอบรม
• พ.ศ. ๒๕๖๗ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ ๒๐ สถาบันวิทยาการพลังงาน
• พ.ศ. ๒๕๖๗ หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหาร ระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ ๒๗ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
• พ.ศ. ๒๕๖๔ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๖๓ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
• พ.ศ. ๒๕๕๕ นักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ ๕๙ วิทยาลัยมหาดไทย
ประวัติการทำงาน
• พ.ศ. ๒๕๓๕ เริ่มรับราชการในตำแหน่ง นักวิชาการสหกรณ์ ๓ กรมส่งเสริมสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๕๑ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ ๑๔ จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๕๑ ดำรงตำแหน่ง สหกรณ์จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๕๔ ดำรงตำแหน่ง สหกรณ์จังหวัดสระบุรี กรมส่งเสริมสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๕๖ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๕๗ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๖๐ ดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๖๒ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
• พ.ศ. ๒๕๖๓ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
• ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
• พ.ศ. ๒๕๖๖ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
• พ.ศ. ๒๕๖๓ มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
• พ.ศ. ๒๕๖๓ เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
• พ.ศ. ๒๕๕๗ ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
• พ.ศ. ๒๕๕๔ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
• พ.ศ. ๒๕๕๑ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
• พ.ศ. ๒๕๔๗ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
• พ.ศ. ๒๕๔๕ ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
• พ.ศ. ๒๕๔๑ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
สำหรับ เทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี ๒๕๖๘ ได้แก่
• นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร
• นางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กรมวิชาการเกษตร
• นางสาวฉันทิสา อารีเสวต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
• นางสาวอภิชญา ฟูแสง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
Advertisement