กระเป๋ามะม่วงกวน เครื่องหนังสัปปะรด!?! Fruit Leather เทรนด์ใหม่สายแฟ แปรรูปขยะผลไม้ เปลี่ยนเป็นหนังเทียมสุดปัง!
เราอาศัยอยู่ในโลกที่ทรัพยากรต่างๆ เริ่มขาดแคลนมากขึ้นทุกวัน ทุกปีทั่วโลกเราทิ้งอาหารไป 1.3 พันล้านตัน ซึ่งคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของผลผลิตอาหารทั้งหมด
• ผลไม้ 45% ที่ผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคถูกทิ้งไป
• พื้นที่เกษตรกรรม 30% ของโลกถูกใช้เพื่อผลิตอาหารที่ท้ายที่สุดก็จะถูกทิ้งไป
• อาหาร 40% ที่เก็บเกี่ยวได้ถูกทิ้ง เพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐานเครื่องสำอาง
• อาหารเหลือทิ้งมักเกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคซื้อมากเกินไป หรือเพราะผู้ค้าปลีกต้องทิ้งเนื่องจากมีลักษณะ "ไม่น่ารับประทาน"
• ก๊าซเรือนกระจก 10% ที่ปล่อยออกมาในประเทศพัฒนาแล้วถูกใช้เพื่อผลิตอาหารที่ไม่มีวันถูกรับประทาน
นักออกแบบจากสถาบันวิลเล็ม เดอ คูนิ่ง ในร็อตเธอร์ดัม ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เล็งเห็นปัญหา "ขยะอาหาร" ที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าร้านค้าในตลาดของเมืองนี้ มักจะทิ้งผักและผลไม้ที่เน่าเสียหรือไม่สามารถเอาไปขายได้ประมาณ 3,500 กิโลกรัมต่อวัน โดยร้านค้าต้องจ่ายเงินค่ากำจัดผลไม้เหล่านี้ 10 เซนต์ (ราว 4 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งบางร้านไม่อยากจ่ายหรือไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ ทำให้เกิดการทิ้งขยะแบบผิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมแฟชั่นก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก โดยมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอน 10% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก โดยในทุกๆ ปี สัตว์มากกว่าพันล้านตัวถูกฆ่าเพื่อนำไปผลิตหนัง กระบวนการทำความสะอาดวัสดุเหล่านี้เพียงอย่างเดียวก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 650 ล้านกิโลกรัม
นักออกแบบจึงตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรหากเราไม่ได้มองว่าขยะผลไม้เป็นเพียงสิ่งตกค้าง แต่กลับมองว่าเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นที่มีค่า จึงเกิดไอเดียนำผลไม้เหลือทิ้งเหล่านี้มาแปรรูปให้เป็นแผ่นหนังเทียม ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน และยังช่วยจัดการกับปัญหาขยะผักและผลไม้ที่มีปริมาณมหาศาลได้อีกด้วย
สำหรับผักผลไม้ที่นำมาใช้ในการทำหนังมีตั้งแต่สัปปะรด มะม่วง แอปเปิ้ล ไปจนถึงองุ่น โดยหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการนำผักผลไม้มาแปรรูปเป็นเครื่องหนัง คือ Fruitleather Rotterdam ที่นำมะม่วงที่ผลผลิตล้นตลาดมาปั่น บดให้ละเอียดแล้วทำการเคี่ยว จากนั้นนำมาผสมกับส่วนผสมตามธรรมชาติ ก่อนจะแผ่ให้เป็นแผ่นหนัง นำไปตากจนแห้ง จนได้เป็นแผ่นเป็นวัสดุคล้ายหนัง สามารถนำไปทำรองเท้า เครื่องประดับแฟชั่น เบาะ เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย
แม้ว่าหนังผลไม้จะสู้หนังแท้จากสัตว์ไม่ได้ แต่การจัดการกับเศษผลไม้ที่เหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์ ก็สามารถช่วยลดขยะจากอาหารเหล่านี้ได้อย่างมหาศาล และยังได้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อสัตว์ออกสู่ตลาดอีกด้วย
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก FRUITLEATHER ROTTERDAM
Advertisement