รู้จัก "งูทับสมิงคลา" งูพิษ 1 ใน 7 ชนิดที่มีความสำคัญทางการแพทย์ไทย อาการหลังถูกกัด วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รวมถึงมีงูหลากหลายชนิด ทั้งงูไม่มีพิษและงูมีพิษ หนึ่งในงูพิษที่สำคัญและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ คือ งูทับสมิงคลา หรือ งูทับทางขาว (Malayan Krait หรือ Bungarus candidus) งูพิษสกุลเดียวกับงูสามเหลี่ยม ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 7 งูพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์ของไทย (1.งูเห่า 2.งูจงอาง 3.งูกะปะ 4.งูเขียวหางไหม้ 5.งูแมวเซา 6.งูสามเหลี่ยม 7.งูทับสมิงคลา) เนื่องจากพิษของมันสามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bungarus Candidus
• ขนาด : เป็นงูพิษขนาดเล็ก โตเต็มที่มีความยาวประมาณ 60–120 เซนติเมตร
• สีและลวดลาย : ลำตัวมีสีขาวสลับดำ เกล็ดกลางสันหลังเป็นเกล็ดขนาดใหญ่ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม ด้วยสีของตัวและขนาดที่เล็กช่วยให้มันพรางตัวในป่าหรือกองใบไม้แห้งได้อย่างแนบเนียน
• นิสัย : ชอบอาศัยในที่ชื้น ใต้ใบไม้ รากไม้ หรือหิน มักพบในป่าเขตร้อน หรือพื้นที่ที่มีความชื้นสูง นิสัยไม่ใช่งูขี้หงุดหงิด แต่โอกาสโจมตีใส่ผู้บุกรุกสูงหากถูกรบกวน
พิษของงูชนิดนี้เป็นพิษต่อระบบประสาท อาการสำคัญหลังถูกกัด เริ่มจาก หนังตาตก แขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด
งูทับสมิงคลาได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มงูพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์โดยกระทรวงสาธารณสุข เพราะ
1. พบได้บ่อยในบางพื้นที่ของไทย เช่น ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคเหนือบางจังหวัด
2. ผู้ถูกกัดมีอาการรุนแรงได้รวดเร็ว โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือได้รับพิษในปริมาณมาก
3. มีเซรุ่มเฉพาะในการรักษา เรียกว่า เซรุ่มต้านพิษงูทับสมิงคลา โดยเซรุ่มชนิดนี้ใช้แก้พิษงูที่มีผลต่อระบบประสาท
เชือกรัดเหนือบาดแผล ปัจจุบันวิธีนี้ไม่นิยมทำกันแล้ว เพราะหากบริเวณที่ถูกกัดมีอาการบวม การรัดจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกแล้วก็จะเกิดอาการเนื้อตายมากขึ้น
วิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง โดนงูกัด คือ ล้างแผลให้สะอาด ลดการเคลื่อนไหวของร่างกายในส่วนที่ถูกกัด เดินทางไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรขอความช่วยเหลือ สายด่วน 1669 ห้ามเด็ดขาด!! ใช้ปากดูดพิษ เพราะอันตรายทั้งคนถูกกัดและคนช่วยเหลือ รวมถึงใช้ไฟลนหรือมีดกรีดบริเวณแผลที่ถูกกัด ก็ห้ามทำเช่นกัน
งูทับสมิงคลา เป็นสัตว์ป่าที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ แต่ก็เป็นอันตรายต่อมนุษย์เช่นกัน การรู้จักและเข้าใจงูชนิดนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราระวังภัยได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้สามารถช่วยเหลือผู้อื่นในกรณีฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องด้วย และที่สำคัญ หากพบงูในพื้นที่อาศัย ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อจัดการอย่างปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิงจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล / รายงานผู้ป่วยถูกงูทับสมิงคลากัดและทบทวนวารสาร / Nick Wildlife / คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Advertisement