“ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” มีความเชื่อว่าหากใครได้นำไปสักการะรอยพระพุทธบาท ผลบุญนั้นจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนเกิดเป็นประเพณี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา”
“ดอกเข้าพรรษา” ผลิดอกเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น
“ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์กำลังจะบิน มีลีลาสง่างาม มีชื่อชื่ออังกฤษว่า Globba ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Globba winitii C.H. Wright มีลักษระลำต้นคล้ายๆ ต้นกระชาย หรือ ขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบเศษ
มีดอกสีเหลือง สีขาวและสีน้ำเงินม่วง ต้นดอกไม้เข้าพรรษานี้จะ ขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพตเทือกเขาวง และเขาพุใกล้ ๆ กับรอยพระพุทธบาท เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูฝน และจะผลิดอกเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ( ระหว่าง พฤษภาคม -ตุลาคม) จนชาวบ้านเรียกชื่อให้เป็นที่เหมาะสมว่า “ดอกเข้าพรรษา”
ดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์กำลังจะบิน
ดอกไม้เข้าพรรษาที่ชาวพุทธออกไปเก็บนั้น ดอกสีเหลือง ดอกสีขาว ดูจะหาง่ายไม่ลำบากยากเย็นนัก แต่การเก็บดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วง เขาถือกันว่า ถ้าใครออกไปเก็บดอกไม้เข้าพรรษา สีม่วง มาใส่บาตรได้ คนนั้นจะได้รับบุญกุศลมากมายกว่าการนำดอกไม้สีอื่น ๆ มาตักบาตร
“ดอกเข้าพรรษา” ชื่อเรียกตามถิ่นอื่นๆ
จังหวัดตาก : กล้วยจ๊ะก่า
จังหวัดลำพูน : กล้วยจ๊ะก่าหลวง
จังหวัดเชียงใหม่ : กล้วยเครือคำ
จังหวัดพิษณุโลก : ก้ามปู
ภาคกลาง : ขมิ้นผี หรือกระทือลิง
จังหวัดเลย : ว่านดอกเหลือง
จังหวัดสระบุรี : ดอกเข้าพรรษา
“ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา” คืออะไร มีความสำคัญยังไง
ประเพณีนี้ตามเจตนาเดิมของชาวบ้านคือ ต้องการให้พระที่กำลังเดินขึ้นไปที่พระอุโบสถเพื่ออธิษฐานเข้าพรรษาได้มีดอกไม้บูชาพระ ชาวบ้านเองก็พลอยได้บุญจากการได้ถวายดอกไม้แด่ภิกษุ-สามเณร ไปด้วย
หลังจากที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกไม้ไปสักการะ “รอยพระพุทธบาท” พระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำไปสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระเจดีย์องค์นี้ ทรงเหมือนกับองค์พระธาตุพนม เป็นการคารวะต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และระหว่างที่พระภิกษุเดินลงจากพระมณฑปนั้นพุทธศาสนิกชนก็จะนำเอาน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระล้างบาปของตนด้วย
ความเป็นมา “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” บุญจากการได้ถวายดอกไม้แด่ภิกษุ แบบอย่างครั้งพุทธกาล
ตามความเชื่อของชาวพุทธ การตักบาตรดอกไม้เป็นการสร้างอานิสงส์ที่สูงส่งอย่างยิ่ง โดยปรากฎตามพุทธตำนานว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก ในแต่ละวันจะรับสั่งให้นายมาลาการนำดอกมะลิสดมาถวายถึง วันละ 8 กำมือ
วันหนึ่งขณะที่ นายมาลาการ กำลังเก็บดอกมะลิ ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งเสด็จออกบิณฑบาตร แล้วได้เห็นแสงสว่างจากพระวรกายทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธองค์อย่างยิ่ง จึงตัดสินใจนำดอกมะลิที่มีไปถวายแด่พระพุทธเจ้า พร้อมกันนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า
"ข้าวของทุกสิ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ถวายบูชาแก่พระพุทธองค์ สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า หากถูกประหารชีวิตเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยินยอม"
ครั้นภรรยานายมาลาทราบความก็เกรงกลัวว่าจะต้องโทษที่สามีไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าพิมพิสารก็หลบหนีออกจากบ้านไป แต่หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบกลับพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก และได้ปูนบำเหน็จรางวัล ความดีความชอบแก่นายมาลาการ นับแต่นั้นมาชีวิตของนายมาลาการก็อยู่อย่างมีความสุข
ชาวอำเภอพระพุทธบาทได้ยึดถือประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญ ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี และกำหนดเอาวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันประเพณีตักบาตรดอกไม้
ในวันนั้น เมื่อพระภิกษะสงฆ์รับบิณฑบาตรดอกไม้จากพุทธศาสนิกชน แล้วนำออกมาสักการะพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำไป สักการะบูชาพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมพระสารีริกธาตุ และเข้าโบสถ์ประกอบพิธี สวดอธิษฐานเข้าพรรษา
ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน พี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาทและใกล้เคียง จะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปี (ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 8) เป็นวันตักบาตรดอกไม้ และตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จังหวัดสระบุรี ได้เพิ่มจำนวนวันตักบาตรดอกไม้ จาก 1 วัน เป็น3 วัน มีพิธีตักบาตรดอกไม้วันละ 2 รอบ คือ รอบเช้าเวลา 10.00 น. รอบบ่าย เวลา 15.00 น. ปี
ภาพ : istockphoto
ขอบคุณภาพจาก : อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ,ThailandFestival
ขอบคุณข้อมูลจาก : อุทยานหลวงราชพฤกษ์ , บ้านอะลาง , สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Advertisement