ธุรกิจการตลาด

ดอกเบี้ยขึ้น กระทบ SME หนัก รายได้ไม่พอรายจ่าย ก่อหนี้เพิ่ม

25 ก.ค. 66
ดอกเบี้ยขึ้น กระทบ SME หนัก  รายได้ไม่พอรายจ่าย ก่อหนี้เพิ่ม

เมื่ออัตราดอกเบี้ยของทั้งโลก รวมทั้งไทยปรับขึ้น เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ สิ่งที่ตามมา คือ ดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น ซึ่งสำหรับผู้ฝากเงิน ขณะเดียวกันดอกเบี้ยเงินกู้ก็ปรับขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบกับผู้ที่มีภาระหนี้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) 

เห็นได้จากในไตรมาส 2/2566 สถานการณ์หนี้สินกิจการ SME พบผู้ประกอบการถึง 59.7% มีภาระหนี้สินซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2566 ที่ 53.4%  

โดยส่วนใหญ่มีการกู้ยืมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ ซึ่งมีภาระหนี้สินอยู่ในช่วง 50,000- 100,000 บาท 

ผู้ประกอบการ 55.4% ยังคงเผชิญปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายและสภาพคล่องลดลง ปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 9-12% โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

f28cc11f-48c0-47a4-b005-85c05

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาสที่ 2/2566 จากผู้ประกอบการ จำนวน 2,691 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17-27 มิถุนายน 2566 พบว่า 

ในไตรมาสที่ 2/2566 ผู้ประกอบการ SME  59.7% มีภาระหนี้สิน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่อยู่ที่ 53.4% 

โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ 

รองลงมา คือ การลงทุนในกิจการ เพื่อการซ่อมแซมสถานประกอบการ 

พบว่า กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะธุรกิจภาคการค้าและภาคการบริการมีสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการกู้ยืมจากเพื่อนหรือญาติพี่น้องมากที่สุด เนื่องจากแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินมีวิธีการและกระบวนการพิจารณาที่เข้มงวด 

screenshot2023-07-03163246

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ประกอบการ SME  35.6% มีภาระหนี้สินอยู่ในช่วง 50,000- 100,000 บาท ซึ่งมีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ 33.2% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจรายย่อย โดยมีระยะเวลาสัญญาเงินกู้ในช่วงไม่เกิน 7 ปี  

ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินของ SME ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะ ธุรกิจรายย่อยยังแบกรับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธุรกิจขนาดอื่น ๆ โดยขยับขึ้นมาอยู่ในช่วง 9-12% จาก 6-8% ในช่วงไตรมาสก่อน

โดยสถานการณ์ในไตรมาสที่ 2/2566 ผู้ประกอบการ SME กว่า 55.4% ยังคงเผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้ ด้วยเหตุที่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย สภาพคล่องลดลงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME 57.8% ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดสัญญา จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว 

แต่ยังพบว่าผู้ประกอบการ SME  42.4% เริ่มประสบปัญหาการผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดย่อม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

ปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญ คือ ปัญหาด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ รองลงมา คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งมีขั้นตอนการยื่นกู้ยุ่งยาก 

สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รองลงมา คือ ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจรายเล็ก และการลดขั้นตอนหรือเงื่อนไขในการยื่นขอสินเชื่อ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า SME ยังต้องการให้ทางการเข้ามาดูแล เพราะเริ่มมีการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยบรรเทาต้นทุนที่สูงขึ้นทุกๆ ด้าน

 

advertisement

SPOTLIGHT