ข่าวเศรษฐกิจ

เปิด 10 ประเทศที่ผลิต และมีทรัพยากรแร่ทองมากที่สุดในโลก ไทยมีแร่ทองทำหรือไม่? ปริมาณเท่าไหร่?

26 เม.ย. 67
เปิด 10 ประเทศที่ผลิต และมีทรัพยากรแร่ทองมากที่สุดในโลก ไทยมีแร่ทองทำหรือไม่? ปริมาณเท่าไหร่?

ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเงินเฟ้อแบบในปัจจุบัน ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์เนื้อหอมที่ใครๆ ก็อยากซื้อมาเก็บใส่พอร์ต เพราะถือเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่เป็นที่พักเงิน หรือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ถือไว้นานๆ อย่างไรก็ได้กำไร

ตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงปัจจุบัน (26 เม.ย.) ราคาทองคำเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณเกือบ 300 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 2,058.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ มาเป็น 2,342.57 ดอลลาร์สหรัฐต่ออนซ์ และเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 2,431.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนราคาในไทยเองก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวันจากการสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอน

แต่ก่อนจะมาเป็นทองอย่างที่เราเคยเห็นกันในร้าน เคยสงสัยหรือไม่ว่าทองคำเหล่านี้ผลิตมาจากไหน? และต้องผ่านกระบวนอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงมือผู้บริโภค

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองและแปรรูปทองกันว่าปัจจุบันประเทศใดเป็นผู้นำด้านการผลิตทอง ประเทศใดมีทรัพยากรทองที่ยังไม่ได้ขุดมากที่สุด และแร่ทองต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างกว่าจะมาเป็นทองที่เราซื้อมาเก็บสะสมไว้ได้

โลกมีทองเท่าไหร่? ขุดไปเท่าไหร่แล้ว?

ทองคำ เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่พบได้ในหินเกือบทุกชนิด โดยเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 0.0035 กรัมต่อตันในเปลือกโลก และมีประมาณ 0.00003 ตันในน้ำทะเล แต่จะมีบางบริเวณเท่านั้นที่มีสภาพทางธรณีวิทยาเหมาะสมต่อการสะสมตัวของทองคำ และเกิดเป็น “แหล่งแร่ทองคำ” ได้ ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดได้เป็น 2 แบบ คือ 

  1. แหล่งทองคำแบบปฐมภูมิ หมายถึง แหล่งแร่ทองคำที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น สายน้ำแร่ร้อน และกระบวนการแปรสัมผัส ซึ่งกระบวนการทั้งหลายดังกล่าว ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินชนิดต่างๆ ทั้งหินอัคนี หินชั้น และหินแปร จนอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า
  2. แหล่งทองคำแบบทุติยภูมิ หมายถึง แหล่งแร่ทองคำที่เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำเป็นส่วนประกอบ หรือแหล่งแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ โดยทองคำจะหลุดออกมาเป็นเม็ดกลม หรือเกล็ดเล็กๆ และพบในแหล่งที่ใกล้เคียงกับแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ หรือถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ในบริเวณต่างๆ เช่น เชิงเขา ลำห้วย ทำให้สามารถแยกออกมาได้ด้วยการร่อน

ข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า โลกนี้มีทองที่ค้นพบแล้วทั้งหมด 244,000 ตัน ซึ่งถ้าเอามารวมกันทำเป็นลูกบาศก์ ลูกบาศก์นี้จะมีความกว้างและความยาวประมาณ 23 เมตรในทุกด้าน 

ปัจจุบัน ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามนุษย์นำแร่ทองออกจากเปลือกโลกและน้ำทะเลมาแล้วกี่ตัน แต่จากการคาดการณ์ของสภาทองคำโลก (Word Gold Council) มนุษย์ได้ขุดแร่ทองคำออกมาใช้แล้วประมาณ 212,582 ตัน และประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณนั้นถูกขุดออกมาหลังปี 1950 เป็นต้นมา 

นี่เท่ากับว่า โลกของเราเหลือแร่ทองที่ยังไม่ได้ถูกขุดออกมาใช้อีกเพียงไม่กี่หมื่นตัน และเนื่องจากทองเป็นธาตุที่ทำลายได้ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ ทองที่ถูกขุดออกมาก็จะถูกหมุนเวียนใช้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบทองแท่ง ในรูปแบบเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้เช่น เป็นส่วนประกอบในเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร อากาศยาน หรือสินค้าอื่นๆ

 

ออสเตรเลียมีทรัพยากรแร่ทองมากที่สุด แต่จีนผลิตมากที่สุด

จากข้อมูลของ Statista ในปี 2023 ประเทศที่มีทรัพยากรแร่ทองมากที่สุดในโลก คือ ‘ออสเตรเลีย’ ซึ่งมีจำนวนทรัพยากรทองเก็บไว้อยู่ 12,000 ตัน รองลงมาเป็น ‘รัสเซีย’ ที่มีทรัพยากรอยู่ 11,100 ตัน และ ‘แอฟริกาใต้’ ที่มีอยู่ 5,000 ตัน ทำให้จำนวนแร่ทองที่เหลืออยู่ในเปลือกโลกหรือธรรมชาติในขณะนี้ อยู่ในการครอบครองของ 3 ประเทศนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้ออสเตรเลียจะเป็นประเทศที่มีแร่ทองเก็บไว้มากที่สุดในโลก แต่ออสเตรเลียกลับไม่ใช่ผู้ผลิตทองรายใหญที่สุดในโลกในขณะนี้ แต่เป็น ‘จีน’ ที่ในปี 2023 ผลิตทองออกมาเป็นจำนวนถึง 370 ตัน โดยบริษัทที่รับผิดชอบผลิตทองในจีน 3 รายใหญ่ คือ China Gold International Resources, Shandong Gold และ Zijin Mining Group

ทั้งนี้ ข้อมูลของ OEC ระบุว่า ในปี 2022 จีนส่งออกทองเป็นมูลค่าทั้งหมด 5.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 จีนส่งออกทองเป็นมูลค่าถึง 234 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 231% จาก 70.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023

ถัดจากจีน ประเทศที่ผลิตทองมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ ‘ออสเตรเลีย’ ที่ในปี 2023 ผลิตทองไปทั้งหมด 310 ตัน โดยทองถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของออสเตรเลีย และทำรายได้ให้ออสเตรเลยไปทั้งหมดถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 5.8 แสนล้านบาทในปี 2022/2023

และอีกประเทศที่ผลิตทองได้มากไม่แพ้กัน คือ ‘รัสเซีย’ ที่ในปี 2023 ผลิตทองได้ทั้งหมด 310 ตัน เท่ากัน แต่ปัจจุบันรัสเซียกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะยังอยู่ในภาวะสงครามกับยูเครน และถูกหลายๆ ประเทศตะวันคว่ำบาตร ทำให้รัสเซียต้องขายทองให้กับกลุ่มประเทศอื่นแทน เช่น กลุ่มประเทศ BRICs (อินเดีย จีน และบราซิล) และคาซักสถาน

สำหรับรายชื่อประเทศเจ้าของแร่ทองและผู้ผลิตทอง 10 อันดับแรกของโลก ประเทศอาเซียนประเทศเดียวที่ติดอันดับ คือ ‘อินโดนีเซีย’ ที่เป็นประเทศที่มีแร่ทองมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ที่ 2,600 ตัน และเป็นประเทศที่ผลิตทองได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ที่ 110 ตันในปี 2023
artboard1_7

ไทยมีแร่ทองคำหรือไม่? มีปริมาณเท่าไหร่?

จากข้อมูลของสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองทำจำนวนทั้งหมด 32 แหล่ง รวมปริมาณประมาณ 148 ตัน โดยสามารถแบ่งได้ทั้งหมดจํานวน 5 แนวหลัก คือ แนวเลย-เพชรบูรณ์-ปราจีนบุรี, แนวเชียงราย-แพร่-ตาก, แนวชลบุรี-นราธิวาส, แนวเชียงราย-ลําปาง-แม่ฮ่องสอน และแนวกาญจนบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ - พังงา

ใน 5 แนวดังกล่าว แนวที่มีทรัพยากรแร่ทองสมบูรณ์ที่สุด คือ แนวเลย – เพชรบูรณ์ – ปราจีนบุรี โดยเริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี เพชรบูรณ์ พิจิตร ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว แนวนี้มีแหล่งแร่ทองคําจํานวน 7 แหล่ง ซึ่งมีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคํารวมถึง 64 ตัน หรือประมาณ 43% ของปริมาณแร่ทองที่ไทยมีทั้งหมด

กว่าจะมาเป็นทองคำแร่ทองต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าแบบอื่นๆ แร่ทองก็ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในซัพพลายเชน เช่นกัน กว่าจะออกมาเป็นทองคำที่เราหาซื้อได้ตามร้านทอง หรือนำไปใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ ได้ โดยต้องผ่านมือตั้งแต่ ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรทอง→บริษัทเหมืองแร่ที่ได้สิทธิเข้าไปขุดแร่→ผู้ค้าทองหรือผู้ส่งออกทอง→ผู้ขนส่งทอง→ผู้หลอมและสกัดทอง→ผู้ค้าทอง→ผู้ผลิตชิ้นส่วนจากทอง→ผู้รีไซเคิลทองที่จะส่งทองไปยังผู้หลอมและสกัดทองนำกลับมาขึ้นรูปและใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบัน แต่ละประเทศที่มีทรัพยากรทองมีกฎหมายและระเบียบในการให้สัมปทานหรือสิทธิกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเป็นผู้ขุดทองแตกต่างกัน เพราะบางประเทศอาจไม่เปิดให้เอกชนเข้าไปขุดและทำธุรกิจเหมืองแร่ทอง โดยปัจจุบันการทำเหมืองแร่ทองคำมีวิธีใหญ่ๆ 2 วิธีคือ 

  1. การทำเหมืองแร่ทองคำแบบเหมือง ซึ่งเหมาะกับแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ไม่ลึกจากผิวดินมากนัก ทำได้ด้วยการเปิดหน้าดินลงไปเรื่อยๆ จนถึงแหล่งแร่ทองคำ ซึ่งต้องใช้พื้นที่หน้าเหมืองมาก ถ้าแหล่งแร่อยู่ในระดับที่ลึก หน้าเหมืองจะต้องเปิดให้กว้างขึ้น และต้องใช้เครื่องมือหนัก เช่น เครื่องเจาะ รถขุด รถตัก รถขนแร่ขนาดใหญ่ ตลอดจนต้องมีการระเบิดบริเวณหน้าเหมือง
  2. การทำเหมืองแร่ทองคำแบบเหมืองใต้ดิน ซึ่งเหมาะสำหรับแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ลึกจากผิวดินมาก และจะใช้พื้นที่หน้าเหมืองน้อย โดยเริ่มจากการเปิดหน้าดิน เพื่อเจาะช่องทางสำหรับเครื่องมือหนักทำงานเข้าหาแหล่งแร่ หรือทำเป็นอุโมงค์ทางเข้าลงสู่แหล่งแร่

เมื่อได้แร่ทองออกมาแล้ว ทองที่ออกจากเหมืองแร่ส่วนมากจะผ่านผู้ค้าทองหรือส่งออกทองในประเทศที่จะส่งต่อทองให้ผู้หลอมและสกัดทองออกมาเป็นสินค้ารูปแบบต่างๆ ซึ่งสินค้าที่ได้ก็จะเป็นทองที่มีความบริสุทธิ์แตกต่างกันไป ส่งต่อไปให้ผู้ค้าทองที่จะนำทองไปขายให้กับผู้ซื้อ โดยอาจจะเป็นผู้บริโภครายย่อย หรือผู้ผลิตต่างๆ ที่จะนำทองไปผลิตสินค้าของตัวเองอีกทีหนึ่ง เช่น แผงวงตรไฟฟ้า และชิปเซ็ต เพราะทองเป็นธาตุที่นำไฟฟ้าได้ดี และไม่ขึ้นสนิมหรือถูกกัดก่อนเหมือนเงินหรือทองแดง

 

 

 

อ้างอิง: World Gold Council, Statista, USGS, OEC, MineSpider

 

advertisement

SPOTLIGHT