เมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศ “ฝุ่น” หนา เรามา “ล้างจมูก” กันเถอะ!

2 ก.พ. 66

เมื่อต้องใช้ชีวิตเผชิญกับภาวะสภาพอากาศแย่ “ฝุ่น” PM 2.5 หนา การ “ล้างจมูก” คืออีกหนทางหนึ่งในการดูแลสุภาพร่างกายด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ฝุ่น PM 2.5 เยอะขนาดนี้ หายใจลำบากกันไหม รู้สึกรูจมูกของเราไม่สะอาดรึเปล่า ทีมข่าว “อมรินทร์ทีวี ออนไลน์” รวบรวมวิธีการ ขั้นตอน และประโยชน์ของการทำความสะอาดโพรงจมูก มาบอกเล่าเก้าสิบให้คุณผู้อ่านได้รับทราบกัน

การล้างจมูก คือ การใช้น้ำเกลือทำความสะอาดโพรงจมูก เพื่อล้างน้ำมูก และสิ่งสปรก บริเวณโพรงจมูกออก จะทำให้รู้สึกว่าโพรงจมูกสะอาด รู้สึกชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก หายใจสะดวกมากขึ้น

การล้างจมูกไม่ได้จำเป็นสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้เท่านั้น แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรง ผู้ใหญ่ และเด็กที่สามารถกลั้นหายใจ และสั่งน้ำมูกเองได้ ก็สามารถล้างจมูกได้เช่นกัน

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูก แนะนำให้ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ Sodium Chloride ความเข้มข้น 0.9% เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวของน้ำมูก และทำให้เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต หลอดฉีดยาหรือไซริงค์ ขนาด 5-10 cc สำหรับเด็ก และขนาด 10-20 cc สำหรับผู้ใหญ่ ภาชนะที่สะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือในการล้างจมูก

ส่วนขั้นตอนการล้างจมูกนั้น ควรล้างมือและไซริงค์ให้สะอาด จากนั้นเทน้ำเกลือใส่ในภาชนะที่สะอาด ใช้ไซริงค์ดูดน้ำเกลือจากภาชนะที่สะอาดประมาณ 10-20 มิลลิลิตร ตามขนาดของไซริงค์ และโน้มตัวเหนือภาชนะรองน้ำ ดันไซริงค์ให้แนบสนิทกับรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง แล้ว “กลั้นหายใจ ก้มหน้า อ้าปาก” ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูก น้ำเกลือจะไหลเข้าไปในโพรงจมูก และไหลออกทางรูจมูกอีกด้านหนึ่ง สั่งน้ำมูกที่ค้างอยู่ออกเบาๆ บางคนอาจมีน้ำเกลือบางส่วนไหลออกทางปากให้บ้วนทิ้งไป ล้างจมูกอีกข้างหนึ่ง ด้วยขั้นตอนแบบเดียวกัน ทำซ้ำโดยล้างจมูกสลับกันไปมา หรือล้างจนกว่าจะรู้สึกหายใจโล่ง ไม่มีน้ำมูก

ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมาก การล้างจมูกไม่มีอันตราย หากเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้อง

ข้อควรระวัง ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างจมูกเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอาการสำลักน้ำ และแสบโพรงจมูก ไม่ควรฉีดน้ำเกลือแรง ควรสั่งน้ำมูกและเช็ดจมูกเบาๆ

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ภายในจมูกออกไป ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค ของเสีย และสารก่อภูมิแพ้ สามารถทำได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และสามารถล้างได้บ่อยๆ เมื่อมีอาการคัดจมูก หรือวันละ 2 – 3 ครั้ง โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก

อย่างไรก็ตามอย่าลืม ล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ล้างด้วยน้ำประปาจนหมดน้ำสบู่ และผึ่งให้แห้ง เก็บให้ดี

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส